ระยอง” เมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม

    10 ปี ที่สมาคมเพื่อนชุมชนเดินทางมา มีโครงการที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คน สิ่งแวดล้อม การศึกษา ฯลฯ อย่างมากมายรวม 10 โครงการ สามารถสร้างวิสาหกิจชุมชนได้ถึง 38 แห่ง ทำรายได้ไปถึง 50 ล้านบาท จากนี้ไปจะผลักดันให้ก้าวไปสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับสูงสุด หรือ “Happiness” เพื่อให้ระยองเป็นเมืองต้นแบบ  



   นายวริทธิ์ นามวงษ์ นายกสมาคมเพื่อนชุมชน เปิดเผย ในการแถลงข่าวครบรอบ 10 ปี สมาคมเพื่อนชุมชนว่า การดำเนินงานในระยะต่อไป สมาคมฯ ยังคงยึดมั่นในเจตนารมณ์ตั้งแต่ครั้งก่อตั้งคือ มุ่งสร้าง “บ้านเราน่าอยู่ สังคมยั่งยืน” ให้เกิดขึ้นในจังหวัดระยอง โดยมีเป้าหมายความร่วมมือดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนพัฒนาสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ในระดับสูงสุด หรือระดับ “Happiness” เพื่อให้ระยองเป็นเมืองต้นแบบ “เมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม” ของประเทศไทย

               “เวลาพูดถึงเชิงนิเวศ จะนึกถึงโรงงานที่สะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งตอนนี้มี 76 โรงงานได้รับการรับรอง Eco Factory หมดแล้ว และภูมิใจมาก เรื่องต่อมาคือ เรื่องสุขภาพ โดยมีทุนพยาบาลและสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และเรื่องการศึกษาที่จะให้ความสำคัญ โดยเรามีทุนปริญญาตรี ทุนอาชีวศึกษา และอีกเรื่องที่สำคัญคือ วิสาหกิจชุมชนที่ร่วมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนี้มีอยู่ 38 วิสาหกิจชุมชนที่พัฒนามาแล้วตลอด 5 ปี และมีรายได้เกิน 50 ล้านบาทแล้ว” นายวริทธิ์ กล่าว 
     ดังนั้น ในอนาคตสมาคมฯ มีแผนที่จะพัฒนาให้ระยองเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอยู่ในระดับสูงสุด เพื่อให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งการเป็นเมืองลักษณะนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และชุมชน ช่วยกันผลักดัน เพราะระยองเป็นบ้านของเรา จึงต้องทำเมืองของเราให้น่าอยู่ และอยู่คู่กับอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง 


      ด้านนางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวเสริมว่า กนอ.ได้สร้างนิคมฯ มาทั้งหมด 60 แห่งทั่วประเทศแล้ว มีเงินลงทุนกว่า 4.01 ล้านล้านบาท และมีโรงงานที่อยู่ภายใต้การกำกับของ กนอ.มากกว่า 5 พันโรงงาน ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ กนอ.ทำงานร่วมกับสมาคมฯ สามารถลดการเกิดอุบัติเหตุได้จนแทบเป็นศูนย์ 
   ตอนนี้จังหวัดระยองจัดอยู่ในระดับเวิลด์คลาสแล้ว โดยมี 3 แห่ง คือ นิคมฯ อาร์ไอแอล สำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และตอนนี้มีนิคมฯ ที่เป็นเชิงนิเวศแล้วทั้งสิ้น 33 แห่ง และจะผลักดันให้เป็นนิคมฯ ระดับเวิลด์คลาสอีก 4 แห่งภายในปีนี้ จึงขอให้มั่นใจได้ว่าต่อไประยองจะเป็นเมืองต้นแบบของอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมา 2562 โครงการ “เพื่อนชุมชน x ธรรมศาสตร์โมเดล” ได้รับรางวัลด้านระบบนิเวศ                           ของวิสาหกิจชุมชนกับการพัฒนาที่ยั่งยืนจาก EFMD (European Foundation for Management Development) เป็นรางวัลระดับโลกที่ภูมิใจ

    
             
    นอกจากนี้ จะส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายการพัฒนาในจังหวัดระยอง เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยอาศัยพื้นที่ต้นแบบ (Model) ที่ทางสมาคมฯ ได้พัฒนาร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ชุมชนเชิงนิเวศ โรงเรียนเชิงนิเวศ และวัดเชิงนิเวศ รวมถึงโครงการต่างๆ ที่ดำเนินการสามารถแบ่งปันองค์ความรู้ หรือให้คำแนะนำแบบเพื่อนช่วยเพื่อนสู่พื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) เป็นต้น ตลอดจนเปิดให้มีการเยี่ยมชมพื้นที่ต้นแบบ สำหรับองค์กร และหน่วยงานที่สนใจ 

  
 
   สำหรับการจัดงานครบรอบ 10 ปีสมาคมเพื่อนชุมชน ครั้งนี้ ได้เปิดให้ชุมชนที่ร่วมโครงการ “เพื่อนชุมชน-ธรรมศาสตร์โมเดล” มากกว่า 20 ชุมชน นำผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนมาร่วมจัดจำหน่าย และนำเสนอความน่าสนใจของสินค้า โดยโครงการ “เพื่อนชุมชน-ธรรมศาสตร์โมเดล” ได้ดำเนินการต่อเนื่องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อต่อยอดการส่งเสริมรายได้ให้กับชุมชน สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาลได้อย่างแท้จริง

    การดำเนินงานของสมาคมเพื่อนชุมชนตลอด 10 ปี โดยมีโครงการที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ในด้านการศึกษาและสุขภาพ  การดูแลสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนผ่าน 10 โครงการสำคัญ  ได้แก่ 

1.โครงการEco Industrial Town: จาก Eco Factory สู่ บ้าน วัด โรงเรียน ตำบล เชิงนิเวศ ความร่วมมือในกลุ่มอุตสาหกรรม ด้วยรูปแบบ เพื่อนช่วยเพื่อน 
2. โครงการทุนพยาบาลเพื่อนชุมชน 
3. โครงการบุคลากรทางการแพทย์ 
4. โครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อนชุมชน เพื่อดูแลผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ห่างไกลโรงพยาบาล  

  

5. โครงการการพัฒนาศักยภาพ อสม.  
6. โครงการเพื่อนชุมชนติวเตอร์ เป็นการทบทวนความรู้ให้นักเรียน ม.6 ในจังหวัดระยอง ที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย 
7. โครงการทุนปริญญาตรีและทุนอาชีวศึกษาเพื่อนชุมชน 
8. โครงการพัฒนาศักยภาพครูแนะแนว 
9. โครงการแผนฉุกเฉินชุมชนและเครือข่ายเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมเชิงรุก 
10. โครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ตามโครงการ “เพื่อนชุมชน x ธรรมศาสตร์โมเดล” 

    สมาคมเพื่อนชุมชน (CPA) ก่อตั้งจากความร่วมมือของกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ (MTP) โดยการริเริ่มของ 5 บริษัท (กลุ่ม ปตท. เอสซีจี บีแอลซีพี ดาวประเทศไทย และโกลว์/GPSC) ปัจจุบันมีสมาชิก รวม 17 กลุ่มบริษัท สมาคมฯ มีเป้าหมายยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตชุมชนให้อยู่ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมอย่างมีความสุข ซึ่งการดำเนินงานก้าวสู่ปีที่ 10 ในปีนี้ (พ.ศ. 2563) นับเป็นสิ่งพิสูจน์ความสำเร็จของการร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการอุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐ และชุมชน เป็น “Collaborative Model” ต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย

  พ.ย. 63


 
เว็บสำเร็จรูป
×