“วัคซีนใบยา” มาแน่กลางปี’65       

    
            ขณะนี้โรงงานผลิตวัคซีนใบยาเสร็จแล้ว ถือเป็นแห่งแรกในเอเชียที่พัฒนาจากใบยาสูบ สามารถผลิตได้มากถึงเดือนละ 5 ล้านโดส ซึ่งได้ผ่านการทดลองกับสัตว์มาแล้ว โดย “ใบยา ไพโตฟาร์ม” เตรียมทดสอบการป้องกันโควิด-19 กับอาสาสมัครกลุ่มแรก ก.ย.นี้ ในช่วงอายุ 18–60 ปี และพร้อมฉีดให้กับคนไทยช่วงกลางปีหน้า 

            ตอนนี้ “วัคซีน” ถือเป็นหนึ่งในความหวังที่จะช่วยชะลอและลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19   และอัตราการเสียชีวิตได้ ซึ่งที่ผ่านมานักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้คิดค้นพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 โดยตลอด ทั้ง ChulaCov19 วัคซีนชนิด mRNA ที่พัฒนาโดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และอีกหนึ่งความหวังของคนไทย นั่นคือ “วัคซีนใบยา” ซึ่งผลิตจากใบพืช เป็นผลงานสตาร์ทอัพแห่งจุฬาฯ บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด (ภายใต้ CU Enterprise) โดยสองนักวิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ และรองศาสตราจารย์ ดร.วรัญญู พูลเจริญ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬา ที่พร้อมพิสูจน์ฝีมือคนไทยเดือนกันยายนนี้ 

           วัคซีนใบยาเป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด subunit vaccine ซึ่งต่างประเทศมีการผลิตวัคซีนชนิดนี้มานานแล้วโดยผลิตจากหลายแหล่ง เช่น พืช แมลง ฯลฯ ขณะที่หลายประเทศผลิต subunit vaccine จากใบพืช เช่น แคนาดา และเกาหลีใต้ โดยวัคซีนใบยานั้น จะใช้ใบยาสูบสายพันธุ์ดั้งเดิมจากออสเตรเลียทำหน้าที่เสมือนโรงงานผลิตชิ้นส่วนของไวรัส ซึ่งเป็นไวรัสที่ไม่ก่อให้เกิดโรคเมื่อฉีดวัคซีนใบยาเข้าไปในร่างกาย วัคซีนจะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของมนุษย์ หากติดเชื้อโควิด-19 ก็จะป้องกันได้ 



           ทั้งนี้ หลังจากได้รับวัคซีนต้นแบบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 คณะผู้วิจัยได้ดำเนินการทดสอบวัคซีนใบยากับสัตว์ทดลอง เช่น หนูขาวและลิงซึ่งแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2563 พบว่า วัคซีนสามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในสัตว์ทดลองได้ผลสูง หลังจากนั้นในเดือนตุลาคม 2563 จึงเริ่มสร้างโรงงานต้นแบบการผลิตวัคซีนที่อาคารจุฬาพัฒน์ 14 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2564 นับเป็นโรงงานผลิตวัคซีนจากพืชสำหรับใช้ในมนุษย์แห่งแรกในเอเชีย บนเนื้อที่ 1,200 ตร.ม. มีกำลังการผลิตวัคซีนเดือนละ 1–5 ล้านโดส 

          ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าวว่า ในเดือนสิงหาคม 2564 จะเปิดรับอาสาสมัครเพื่อทดสอบวัคซีนกลุ่มแรกจำนวน 50 คน อายุ 18–60 ปีโดยอาสาสมัครต้องมีสุขภาพแข็งแรงและไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน การทดสอบวัคซีนจะเริ่มในเดือนกันยายน ซึ่งอาสาสมัครจะได้รับการฉีดวัคซีนจำนวนสองเข็ม เว้นระยะเวลาห่างกัน 3 สัปดาห์ เมื่อทดสอบกับอาสาสมัครกลุ่มแรกเสร็จ ก็จะทดสอบวัคซีนกับอาสาสมัครกลุ่มอายุ 60–75 ปี ต่อไป และคาดว่าวัคซีนใบยาจะพร้อมฉีดให้คนไทยช่วงกลางปี 2565 ในราคาต้นทุนโดสละ 300– 500 บาท

          นอกจากนี้ คณะนักวิจัยยังได้พัฒนาวัคซีนใบยารุ่นที่ 2 เพื่อรับมือการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะพร้อมทดสอบกับอาสาสมัครปลายปี 2564 โดยจะปรับปรุงศักยภาพของวัคซีนในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันดีขึ้นด้วย



          ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าวทิ้งท้ายถึงคุณค่าของโครงการวิจัยนี้ว่า วัคซีนใบยาเป็นวัคซีนฝีมือคนไทย โดยสมบูรณ์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ใช้นักวิจัยคนไทยกว่า 50 ชีวิต และผู้สนับสนุนอีกนับร้อย การผลิตวัคซีนโควิดได้เอง จะช่วยส่งผลให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านสุขภาพ สามารถต่อยอดงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เพื่อประชาชนได้ และเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศไทยด้วย


เว็บสำเร็จรูป
×