SCGP อัดงบแสนล้านครองผู้นำบรรจุภัณฑ์

         บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง ตั้งเป้ารายได้ปี 2565 สูงถึง 1.4 แสนล้านบาท หลังจากโครงการควบรวมธุรกิจเสร็จเรียบร้อย รวมทั้งแผนลงทุนระยะ 5 ปี ที่เตรียมงบไว้อีก 1 แสนล้าน ส่วนอีก 3  โปรเจคที่ขยายกิจการทั้งในและต่างประเทศ จะทยอยแล้วเสร็จภายในปี 2565-2567 ในด้านผลการดำเนินงานปีที่ผ่านมา กวาดยอดขายไปได้ 1.2 แสนล้าน หรือเพิ่มขึ้น 34% 



          นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (SCGP) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้วางเป้าหมายรายได้จากการขายในปี 2565 นี้ที่ 140,000 ล้านบาท ซึ่งมีปัจจัยมาจากการรับรู้รายได้เต็มปีจากดีลที่ควบรวมกิจการในปีที่ผ่านมา และโครงการขยายกำลังการผลิตที่จะแล้วเสร็จในปีนี้ อีกทั้งได้วางแผนขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องภายใต้งบลงทุน 5 ปี ไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท ทั้งในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์หลักของ SCGP รวมถึงพิจารณาโอกาสขยายการลงทุนที่เหมาะสมในภูมิภาคอื่นๆ 

          ทั้งนี้ นับจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือนตุลาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน SCGP ได้ขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคอื่นๆ โดยใช้งบประมาณในการลงทุนรวมตลอดอายุโครงการประมาณ 40,000 ล้านบาท ทั้งการควบรวมกิจการ (Merger & Partnership หรือ M&P) และการขยายกำลังการผลิตของบริษัทฯ รวม 12 โครงการ ในจำนวนนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ 9 โครงการ 

      

          ส่วนอีก 3 โครงการอยู่ระหว่างดำเนินการในปัจจุบัน ได้แก่ 1.การขยายกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ของ United Pulp and Paper Co., Inc. (UPPC) ประเทศฟิลิปปินส์ อีก 220,000 ตันต่อปี คาดว่าแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 2.ขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารในประเทศไทยและประเทศเวียดนามอีก 1,838 ล้านชิ้นต่อปี คาดว่าแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 และ 3. โครงการก่อสร้างฐานการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษบรรจุภัณฑ์แห่งใหม่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ภายใต้ Vina Kraft Paper Company Limited (VKPC) ด้วยกำลังการผลิต 370,000 ตันต่อปี คาดว่าแล้วเสร็จในปี 2567 

          สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 2564 สามารถสร้างการเติบโตอย่างมั่นคง โดยมีรายได้จากการขายทั้งสิ้น 124,223 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 จากปีก่อน มีกำไรสำหรับปี 8,294 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 จากปีก่อน ขณะที่ EBITDA อยู่ที่ 21,150 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากปีก่อน ซึ่งผลการดำเนินงานปี 2564 ที่เติบโตอย่างมั่นคง มาจากการบริหารโมเดลธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยกลยุทธ์มุ่งเน้นนำเสนอโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์ การพัฒนาสินค้านวัตกรรมและการขยายพอร์ตสินค้าให้สามารถตอบสนองความต้องการด้านบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลายและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค รวมถึงการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องทั้งในรูปแบบ Organic Expansion และ Merger and Partnership (M&P) และการวางแผนบริหารจัดการสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

         ขณะที่ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 เติบโตอย่างแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเช่นกัน โดยมีรายได้จากการขาย 35,145 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 49 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรสำหรับงวด 2,115 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมี EBITDA เท่ากับ 5,409 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มากขึ้นในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และบรรจุภัณฑ์อาหาร โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปลายปี รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ รวมถึงการรวมผลประกอบการของบริษัทที่ทำ M&P ได้แก่ Go-Pak, Duy Tan, Intan Group และ Deltalab 

      

         ส่วนภาพรวมความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ได้แก่ ประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการบริโภคที่ฟื้นตัวหลังจากรัฐบาลประเทศต่างๆ ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 โดยเฉพาะประเทศเวียดนามที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและซัพพลายเชนทยอยฟื้นตัวใกล้เคียงภาวะปกติ ในขณะที่ราคาเยื่อกระดาษปรับลดลงจากประเทศผู้นำเข้ารายหลัก


 
เว็บสำเร็จรูป
×