บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี วางแผนระยะ 5
ปี เพิ่มมาร์เก็ตแชร์ธุรกิจน้ำมันให้ถึง 25% จากปัจจุบันมีสถานีบริการอยู่2,149 ขยายสาขาร้านกาแฟไปที่ 5,000 สาขา เพิ่มจุดแวะพัก
PT Max Camp ให้ได้ 141 สาขา ดังนั้นในปีนี้ ทิศทางการดำเนินงานจะมุ่งไปที่ธุรกิจ
Non-Oil มากขึ้น ขณะเดียวกันในด้านพลังงาน
เตรียมจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะที่ จ.สงขลา ขนาด 4.5 MW และคาดว่าจะจ่ายไฟได้ช่วงปลายปี
2567
นายพิทักษ์ รัชกิจประการ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด
(มหาชน) (PTG) เปิดเผยว่า ภายใน 5 ปีข้างหน้า บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะมี Retail
Oil Market Share กว่า 25% มีจำนวนสมาชิก Max Card กว่า 30 ล้านสมาชิก ซึ่งจะครอบคลุมคนไทยทั่วประเทศ
และมีจำนวนสาขากาแฟพันธุ์ไทยกว่า 5,000 สาขา พร้อมพัฒนาและมุ่งหาธุรกิจใหม่ๆ
เพื่อใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศของ PTG สร้างประสบการณ์ O2O ที่ไร้รอยต่อ รวมถึงการใช้ Data เพื่อให้เกิด End-to-End Personalization ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค
อีกทั้งจะยกระดับสถานีบริการน้ำมัน PT ใน 3 มิติ ได้แก่
1. Expansion and Renovation โดยเดินหน้าขยายสาขาทั้งหมดปีนี้สู่
2,206 สาขา 2. Service Innovation โดยการยกระดับการให้บริการ
ซึ่งบริษัทฯ จัดตั้ง PT Service Master ขึ้นมาเพื่อให้คำแนะนำลูกค้า
อีกทั้งยังมี Max Camp ให้ลูกค้าได้เข้าพักผ่อนในระหว่างการเดินทาง
โดยให้บริการฟรีสำหรับสมาชิก Max Card และ 3. Data
Optimization โดยการรวบรวมความต้องการของกลุ่มลูกค้าต่างๆ
ผ่านทางฐานสมาชิก Max Card, Max Card Plus, Max Me และ Max
Enterprise Connect เพื่อนำเสนอ Data-Driven Offerings and
Promotions ให้ตรงความต้องการลูกค้ามากที่สุด
“เราจะยกระดับการให้บริการภายในสถานีบริการน้ำมัน PT โดยบริการรูปแบบใหม่
“PT Service Master” ที่จะให้ลูกค้าได้รับประโยชน์สูงสุด รวมถึงลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น
และดูแลลูกค้าได้ทั่วประเทศ โดยทุกวันนี้มี 200 กว่าคน และจะเพิ่มเป็น 2,500 คน
ภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ สำหรับ PT Max Camp เรามีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน
ไม่ว่าจะเป็นห้องอาบน้ำ เตียงนอน ทีวี เครื่องซักผ้า
โดยลูกค้าที่เป็นสมาชิกสามารถใช้บริการได้ฟรี ซึ่งในปัจจุบันตั้งอยู่ใน 64 สถานี
และจะขยายเป็น 141 สถานี ภายในปี 2570 ในปัจจุบันมีฐานสมาชิก Max Card ทั้งสิ้น 19 ล้านสมาชิก โดยจะขยายไปเป็น 30 ล้านสมาชิกในอีก 5 ปีข้างหน้า
ซึ่งความสำคัญของ Max Card และ Max Card Plus คือ เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า เพิ่มยอดขาย
และเพิ่มความถี่ของการเข้ามาใช้บริการธุรกิจในเครือเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมือ Max Me ที่เป็น Application
และ e-Wallet ที่จะช่วยต่อยอดฐานสมาชิกในโลกออนไลน์
โดยภายในปีนี้คาดว่าลูกค้าจะสามารถชำระเงินผ่าน Max Me กับ Partner
ของพีทีกว่า 1 ล้าน Touchpoints อีกทั้งยังมีบริการสินค้าดิจิทัล
Financing และ Lifestyle ที่จะมาเชื่อมต่อกับ
Max Me อีกด้วย และพีทียังมีการใช้ Digital Platform เพื่อตอบโจทย์ B2B ได้แก่ Max
Enterprise Connect ซึ่งเป็น Fuel Management Platform ที่ช่วยในการบริหารต้นทุนน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาได้ตรงจุด
และลดความยุ่งยากที่เกี่ยวกับเอกสาร เหมาะสำหรับผู้ประกอบการและองค์กรธุรกิจทุกขนาด
โดยที่สามารถดู Real Time Data ได้ตลอด 24 ชม.
และสามารถเชื่อมต่อ Microservices เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับองค์กรได้ในอนาคต
ด้านนายรังสรรค์ พวงปราง
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สิ้นปี
2565 จำนวนสถานีบริการน้ำมัน PT ที่ผ่านมา อยู่ที่ 2,149 สถานี แบ่งเป็น
สถานีบริการฯ ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทฯ (COCO) จำนวน
1,809 สถานี และสถานีบริการฯ ที่เป็นของผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิ์จากบริษัทฯ (DODO)
จำนวน 340 สถานี
สำหรับจำนวนสาขาของธุรกิจ
Non-Oil สิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่
1,526 สาขา แบ่งเป็น ร้านกาแฟพันธุ์ไทย จำนวน 511 สาขา ธุรกิจ LPG แบ่งเป็น สถานีบริการ Auto LPG จำนวน 231
สถานีบริการ และร้านจำหน่ายก๊าซ LPG บรรจุถัง จำนวน 253 สาขา
ร้านสะดวกซื้อ Max Mart จำนวน 309 สาขา ร้านคอฟฟี่ เวิลด์
จำนวน 26 สาขา ศูนย์บริการซ่อมแซมและบำรุงรักษารถยนต์ Autobacs จำนวน 45 สาขา ศูนย์เปลี่ยนถ่ายน้ำมัน Maxnitron Lube Change จำนวน 52 สาขา จุดพักรถ Max Camp จำนวน 64 จุด
สถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging) จำนวน 35 จุดชาร์จ
ธุรกิจ Non-Oil ของ PTG
มีการเติบโต ไม่ว่าจะเป็น จำนวน Touchpoint ที่เติบโต
36% YoY และมี CAGR 5 ปีเฉลี่ยสะสมที่
34% รายได้เติบโต 68% YoY และ CAGR 5
ปี ที่ 37% กำไรขั้นต้นเติบโต 50% YoY และ CAGR 5 ปี ที่ 36% และสัดส่วนกำไรขั้นต้นที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี
มีสัดส่วนกำไรขั้นต้นในธุรกิจ Non-Oil ที่ 18.5%
ซึ่งเป็นไปตามที่มองไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 15-20%
“ดังนั้น เราจะแบ่งสัดส่วนเงินลงทุน 5-6
พันล้านบาท ไปที่ธุรกิจ Non-Oil 2,000- 2,500 ล้านบา New Business 1,500-2,000 ล้านบาท ธุรกิจน้ำมัน 1,000-1,500 ล้านบาท
และคิดว่าในปีนี้ธุรกิจใหม่ เราจะต้องได้เห็นแน่นอน และนี่คือแผนงานที่จะเกิดขึ้นในปี
2566 นี้” นายรังสรรค์ กล่าว
เดินหน้าลุยรูฟท็อป-ไฟฟ้าขยะ
ส่วนโครงการ Solar Rooftop เป็นการลงทุนผ่าน
บริษัท พีทีจี กรีน เอ็นเนอยี จำกัด (PTGGE) ปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างลงทุนและซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบ
Private PPA กับบริษัทฯ และจะขยายการลงทุนในประเทศและต่างประเทศต่อไปในอนาคต
ปัจจุบันโครงการนี้มีมูลค่าเงินลงทุนจำนวน 300 ล้านบาท และมีกำลังการผลิตไฟฟ้า
ทั้ง Phase 1-4 โดยรวมประมาณ 8.171 MW โดยในปัจจุบัน
Phase 1 และ 2 ได้ดำเนินการติดตั้งเสร็จสิ้นแล้ว
โดยปีนี้มีแผนติดตั้งเพิ่มอีก 6.291 MW คาดว่าปี 2567
จะลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า 9.5 ล้านหน่วยต่อปี และคาดว่าจะลดค่าใช้จ่าย 40-50 ล้านบาท
รวมทั้งช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 4.237 ล้านตันต่อปี (EPPO
ref:การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยการใช้ไฟฟ้า (kWh)
:0.446)
ในส่วนของโรงไฟฟ้าขยะเพื่อชุมชน ณ
เทศบาลเมืองบ้านพรุ มีขนาด 4.5 MW ซึ่งโครงการนี้จะช่วยเสริมธุรกิจ Renewable
Energy ของบริษัทฯ และส่งเสริมมิติสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับกลยุทธ์ ESG
มีมูลค่าลงทุนโครงการโดยประมาณ 900-1,000 ล้านบาท
คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ในช่วงเดือนเมษายนปีนี้
และตอนนี้อยู่ระหว่างรอแจ้งในการลงนามซื้อขายไฟ จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้างโดยใช้เวลาประมาณ
18 เดือน คาดว่าจะ COD ไม่เกินปลายปี 2567
มีขนาดกำลังการผลิต 4.5 เมกกะวัตต์ โดยจำหน่ายใหการไฟฟ้าฝ่ายภูมิภาคทั้งหมด ซึ่งผลประโยชน์ที่บริษัทฯ
คาดว่าจะได้รับ คือสามารถลดปริมาณขยะสะสมได้
2-3 ล้านตัน คาดว่าสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมได้ 4-5
ล้านตัน
โรงไฟฟ้าขยะที่บ้านพรุนี้
จะใช้ปริมาณขยะเป็นวัตถุดิบในการผลิตประมาณ 400 ตัน/วัน
ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานในระยะยาว นอกจากนี้ยังมีเชื้อเพลิง RDF (Refuse
Derived Fuel) เข้ามาเสริม
โดยบริหารจัดการมาจากจังหวัดโดยรอบที่อยู่ใกล้จังหวัดสงขลา
ความร่วมมือกับเทศบาลเมืองบ้านพรุในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะครั้งนี้
จะช่วยลดปริมาณขยะสะสม ลดผลกระทบจากกลิ่นและน้ำเสีย
อีกทั้งยังเป็นการนำของเสียมาก่อให้เกิดประโยชน์ และช่วยส่งเสริมสุขอนามัย
สิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ของคนในชุมชนในละแวกดังกล่าวให้ดีขึ้น
ตามวิสัยทัศน์การดำเนินงานของบริษัทฯ
ที่หวังให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มมีชีวิตที่ “อยู่ดี มีสุข”
ในทุกด้านของช่วงชีวิต
ทั้งนี้ ในปี 2565 ที่ผ่านมา
โดยธุรกิจ Oil
ของ PTG มีปริมาณการจำหน่ายน้ำมันผ่านทุกช่องทางสูงสุดเป็นประวัติการณ์
จำนวน 5,316 ล้านลิตร
เติบโตขึ้น 5.9%
จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) โดยการเติบโตหลักๆ
มาจากช่องทางการค้าปลีกผ่านสถานีบริการที่ 6.5% YoY นอกจากนี้
ยังได้เปิดตัวสถานีบริการน้ำมัน PT ครบวงจร ที่ศาลายา (ฝั่งขาเข้ากรุงเทพ) ซึ่งเป็น Flagship รูปแบบแรกที่ได้รับการออกแบบให้มีความทันสมัย
มีพนักงาน PT
Service Master เข้ามาอำนวยความสะดวก
เพื่อมาเสริมด้านการบริการให้ความพึงพอใจสูงสุดแก่กลุ่มลูกค้า
ในส่วนของธุรกิจ Non-Oil บริษัทฯ
ได้ร่วมมือกับทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ในการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ภายในสถานีบริการน้ำมัน PT ภายใต้นามว่า Elex by EGAT Max โดย ณ สิ้นปี 2565 Elex by EGAT Max ได้ติดตั้งไปแล้ว
35 สถานี
และมีแผนที่จะติดตั้งเป็น 65 สถานีในปี 2566 กระจายตามจุดสำคัญทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ยังมีร้านกาแฟพันธุ์ไทย
ที่พร้อมเติบโตตามแผนกลยุทธ์ 4 ด้าน คือ 1.มุ่งขยายสาขาร้านกาแฟพันธุ์ไทยในรูปแบบของ
“แฟรนไชส์” ทั้งภายในและนอกสถานีบริการน้ำมัน PT 2.รังสรรค์เครื่องดื่มใหม่ ๆ
โดยใช้วัตถุดิบที่มีรสชาติดีและหาทานได้ยากจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย 3.เน้น Delivery Platform ให้มากขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มการรับรู้ การมองเห็น และการเข้าถึงแบรนด์ของลูกค้า และ 4.นำข้อมูลลูกค้าจากบัตรสมาชิก
PT Max Card และ PT Max Card Plus มาเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคของลูกค้า
เพื่อเพิ่มยอดขายและความถี่ของการเข้าใช้บริการร้านกาแฟพันธุ์ไทย
นอกจากนี้ ยังมี Enabler สำคัญที่ได้เข้ามาช่วยเสริม
ธุรกิจ Oil และ Non-Oil ก็คือ Max Me ที่ได้เปิดตัวเมื่อไตรมาส
3 ปี 2565 ที่ผ่านมา
ซึ่งเป็น Application
ที่จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ลูกค้าสมาชิกบัตร
PT Max Card ที่มีอยู่ในปัจจุบันกว่า
19 ล้านสมาชิก
ให้สามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสะสมแต้มเสมือนบัตร PT Max Card อีกทั้งยังมีฟังก์ชัน
e-Wallet ให้สามาถใช้จ่ายผ่านโทรศัพท์มือถือในยุคดิจิตอลไลฟ์สไตล์
สอดคล้องกับยุคสังคมไร้เงินสด
|