สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สร้าง “นวัตกรสายพันธุ์ไทย”
ได้ผู้ชนะรายแรกจากทีมไฮด์แอนซีค ในผลงาน ทรายแมวจากมันสำปะหลัง
ใช้ตัวชี้วัด 4 แนวทาง ในการรับรู้แบรนด์สินค้า ซึ่งหลังเข้าร่วมแคมเปญมูลค่าแบรนด์ขยับไปถึง
400 ล้านบาท โดยมี ม.เกษตรศาสตร์ สนับสนุนในด้านกลยุทธ์และองค์ความรู้ ความสำเร็จนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้พัฒนาสินค้าใหม่ๆ
ออกสู่ตลาดได้อย่างตรงจุด
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์
ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) (องค์การมหาชน) กล่าวว่า
“นิลมังกรแคมเปญ” หรือโครงการการแข่งขันสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประเทศไทย
มีเป้าหมายในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมในระดับภูมิภาค (Regionalization) ที่มุ่งเน้นการยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมของผู้ประกอบการภูมิภาคให้เติบโตเป็นที่ยอมรับและรู้จักในวงกว้าง
โดยอาศัยการสื่อสารรูปแบบ Edutainment ภายใต้ชื่อ “นิลมังกร The
Reality” เพื่อทำให้เกิดความน่าสนใจและเข้าถึงการพัฒนานวัตกรรมได้ง่ายขึ้น
โดยร่วมกับภาคีทั้ง 20 หน่วยงาน ในการสนับสนุนองค์ความรู้ เครือข่าย
แนวทางการสร้างตราสินค้า ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมอื่นๆ ในการสร้าง
“นวัตกรสายพันธุ์ไทย” จากทุกภูมิภาคของประเทศให้สามารถเติบโตและสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
3-5 เท่าในช่วงระยะเวลาการแข่งขัน 3 เดือน
นอกจากนี้ NIA ยังให้ความสำคัญกับการรับรู้แบรนด์หรือตราสินค้าธุรกิจนวัตกรรมของผู้เข้าแข่งขันแต่ละทีม
จึงได้ใช้เครื่องมือการประเมินมูลค่าแบรนด์ คือ การประมาณมูลค่าทางการเงินทั้งหมดของแบรนด์
โดยแบรนด์ถือเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ที่มีมูลค่าสูง สามารถประเมินได้ 4
แนวทาง ได้แก่ แนวทางต้นทุน แนวทางของตลาด แนวทางรายได้ และแนวทางลูกค้า
ซึ่งผลประเมินมูลค่าแบรนด์ของผู้เข้าร่วมกิจกรรมเปรียบเทียบระหว่างก่อนและหลังออกอากาศได้ค่าเฉลี่ยมูลค่าแบรนด์
(Brand Value) เป็นค่าความนิยมของแบรนด์จากเดิมก่อนเข้าร่วมโครงการมีมูลค่าแบรนด์อยู่ที่
50 ล้านบาท และหลังเข้าร่วมโครงการมีการเติบโตของมูลค่าแบรนด์เพิ่มสูงขึ้น
มูลค่ากว่า 400 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8 เท่า
สำหรับ “นิลมังกรทีมแรกของประเทศไทย”
ได้แก่ ทีมไฮด์แอนซีค (Hide and seek) จากจังหวัดกรุงเทพมหานคร เจ้าของผลงาน
“นวัตกรรมทรายแมว” ที่ผลิตจากมันสำปะหลังธรรมชาติ 100%
ซึ่งเกิดการเติบโตทางธุรกิจมากกว่า 5 เท่าจากการเข้าร่วมโครงการ “นิลมังกร”
ถือเป็นตัวอย่างในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมและใช้เครื่องมือทางด้านนวัตกรรมมาเพิ่มความสามารถในการแข่งขันที่จะส่งผลกับผู้ประกอบการภูมิภาคและประชาชนทั่วไปเกิดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญในการใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาธุรกิจท้องถิ่นเพื่อยกระดับเศรษฐกิจของพื้นที่
ด้าน ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง
รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA กล่าวว่า แคมเปญดังกล่าวเป็นแพลตฟอร์มที่ผสมผสานระหว่างการฝึกอบรมให้ความรู้
การวิเคราะห์ปัญหา การนำรูปแบบหรือกลยุทธ์ทางธุรกิจมาช่วยแก้ไขปัญหา
หรือการนำเสนอกลยุทธ์ใหม่ให้กับการทำธุรกิจนวัตกรรมของผู้ประกอบการที่ลงมือทำจริงมีสินค้าหรือบริการแล้วและต้องการเติบโต
โดยอาศัยกลยุทธ์และเทคนิคจากผู้เชี่ยวชาญใน 3 สาขาหลัก ได้แก่ Creative
Innovation, Business Model และ Branding & Storytelling
ในรูปแบบของการลงไปทำงานในพื้นที่ร่วมกับผู้ประกอบการจริง
และสร้างแบรนด์เพิ่มเติม เพื่อให้สามารถขยายหรือสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้
ตลอดจนเป็นต้นแบบหรือเป็นฮีโร่ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนในพื้นที่สร้างนวัตกรรมทั้งสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและตลาดได้อย่างตรงจุด
สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาด และสร้างการเติบโตของธุรกิจได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ เมื่อจบกิจกรรมแล้ว NIA ได้ทำการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจและ/หรือมูลค่าทางสังคมเปรียบเทียบกับงบประมาณที่ใช้ในโครงการ
พบว่ารายได้ที่เติบโตขึ้นในระหว่างการออกอากาศ มากกว่า 4 เท่า และคาดว่าในปี 2565
จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นสูงถึง 18.24 เท่า รวมถึงเกิดการจ้างงานในพื้นที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การจัดแข่งขันสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประเทศไทยระดับภูมิภาค
รุ่นที่ 2 นี้ เปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันนี้ – 31 พฤษภาคม 2565
เพื่อเฟ้นหาธุรกิจนวัตกรรมที่มีอัตลักษณ์ของพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 4
ภูมิภาคทั่วประเทศ
พร้อมโอกาสการต่อยอดทางธุรกิจด้วยโปรแกรมการพัฒนาองค์ความรู้เชิงลึกในด้านนวัตกรรม
การบริหารจัดการ และการสร้างแบรนด์ของธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ ชิงรางวัลมูลค่ากว่า
200,000 บาท สามารถสมัครผ่านช่องทางออนไลน์ที่ https://regional.nia.or.th และติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
Facebook Fan page: Thailand Inno Biz Champion”
ขณะที่ ผศ. ดร.นิคม แหลมสัก
รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า
มหาวิทยาลัยฯ มีการส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมในหลากหลายรูปแบบมาอย่างต่อเนื่อง
โดยมุ่งเน้นการนำองค์ความรู้ที่มหาวิทยาลัยมีอยู่มาต่อยอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม
เพื่อช่วยสร้างกลยุทธ์ และมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการของไทย
สำหรับความร่วมมือกับ NIA ในโครงการ “นิลมังกรแคมเปญ” นี้
นับเป็นความสำเร็จทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยฯ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการบ่มเพาะผู้ประกอบการให้สามารถฝ่าวิกฤตทางเศรษฐกิจและยังสามารถสร้างการเติบโตทั้งยอดขายและมูลค่าแบรนด์
ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันได้ดีว่า
“ธุรกิจที่มีนวัตกรรมและมีกลยุทธ์ที่เหมาะสมไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหนก็ยังสามารถเติบโตได้
และในรุ่น 2 ที่กำลังจะเริ่มขึ้นนี้ มหาวิทยาลัยฯ ก็ไม่หยุดที่จะพัฒนาเทคนิคและวิธีการในการบ่มเพาะและโค้ชชิ่งผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมทุกรายให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป
การใช้ชื่อว่า “นิลมังกร” เพื่อสะท้อนถึงผู้ประกอบการไทยที่มีความแข็งแกร่ง
อดทน ปราดเปรียว มีพลังความสามารถ เสมือน “ม้านิลมังกร”
ในวรรณคดีไทยที่เป็นม้าวิเศษ หรือสุดยอดแห่งม้าในจินตนาการของคนไทย
จึงเปรียบเสมือนตัวแทนของผู้ประกอบการไทยทั้งเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ
และกิจการเพื่อสังคมที่มีการใช้นวัตกรรมสร้างสรรค์สินค้าและบริการให้มีความโดดเด่นและแตกต่าง
โดยอาศัยอัตลักษณ์ของพื้นที่จนสามารถสร้างมูลค่าและตราสินค้าให้เป็นที่ยอมรับและรู้จักในวงกว้าง
ช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับท้องถิ่นและเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเข้มแข็ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ
|