บมจ.ผลิตภัณฑ์ตราเพชร เพิ่มเป้ารายได้โตอีก 5% โดยปรับแผนเรื่องการขายสู่ตลาดคอนโด
และขยายฐานลูกค้าที่ต้องการใช้งาน Diamond cafe ในด้านอื่นๆ ไม่เพียงเท่านี้ยังได้พัฒนาสินค้าใหม่ๆ
ที่ใช้ในบ้านเช่น ไม้บันได รวมถึงจะลงทุนประมาณ 477 ล้านบาท เพิ่มกำลังการผลิตกระเบื้องหลังคาไลน์ CT 6 คาดว่าจะเปิดเดินเครื่องช่วงไตรมาสแรกปี
67 ซึ่งถึงตอนนั้นจะทำให้กำลังการผลิตกระเบื้องทั้งหมดได้ถึง 120 ล้านแผ่น
นายสาธิต สุดบรรทัด
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ผลิตภัณฑ์ตราเพชร จำกัด (มหาชน) (DRT) เปิดเผยว่า
แผนการดำเนินงานปีนี้ได้วางเป้าหมายรายได้เติบโต 5% เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางของตลาดวัสดุก่อสร้างที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น
โดยบริษัทฯ เตรียมความพร้อมการบริหารจัดการทุกด้าน
เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันการทำตลาดให้แก่แบรนด์ ‘ตราเพชร’
ทั้งด้านประสิทธิภาพการผลิตโดยรักษาอัตราการเดินเครื่องจักรเฉลี่ยทั้งปีไม่ต่ำกว่า
90% เพื่อสนับสนุนการทำตลาด โดยจะร่วมมือกับคู่ค้าพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าในทุกช่องทางการจำหน่ายเพื่อขับเคลื่อนแผนงานให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้
สำหรับกลยุทธ์ปีนี้
บริษัทฯ จะมุ่งต่อยอดข้อได้เปรียบเชิงการแข่งขันแบรนด์ ‘ตราเพชร’
ที่มีความหลากหลายผลิตภัณฑ์สามารถก่อสร้างบ้านได้ทั้งหลัง ทั้งระบบหลังคา ไม้สังเคราะห์และบอร์ดไฟเบอร์ซีเมนต์
บอร์ดตกแต่งผนัง อิฐมวลเบา
เพื่อต่อยอดขยายฐานตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียม
ผ่านการนำเสนอนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ ด้วยจุดเด่น Function และ Fashion ที่ติดตั้งง่าย สะดวก รวดเร็ว มีรูปแบบและสีสันสวยงาม พร้อมบริการด้วยทีมช่างมืออาชีพ
รวมถึงปรับโฉม Diamond cafe ขยายฐานตลาดจากกลุ่มผู้ประกอบการร้านกาแฟไปสู่กลุ่มผู้ประกอบการทั่วไปที่ต้องการก่อสร้างออฟฟิศสำนักงาน
หรือ Co-Working Space ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสของ ‘ตราเพชร’ ที่จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า
ทั้งระยะเวลาการก่อสร้างและงบประมาณที่มีความเหมาะสม
“ปีนี้เราพร้อมรุกตลาดวัสดุก่อสร้างเพื่อรักษาความเป็นผู้นำตลาดฯ
ตอกย้ำจุดแข็งความหลากหลายผลิตภัณฑ์มาต่อขยายฐานสู่กลุ่มที่อยู่อาศัยแนวสูง
โดยจะร่วมมือกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และนำเสนอบริการเข้าไปตอบโจทย์ความต้องการงานก่อสร้างโครงการแนวสูง
เพื่อผลักดันการเติบโตในปีนี้ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้” นายสาธิต กล่าว
ด้าน
ดร.พิชญานันท์ ล้อวรลักษณ์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการขาย บมจ.ผลิตภัณฑ์ตราเพชร
กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ
จำหน่ายผ่าน 4 ช่องทางหลัก ประกอบด้วย เอเจ้นท์ โครงการ โมเดิร์นเทรด
และต่างประเทศ ซึ่งในช่องทางโมเดิร์นเทรด อย่างไทวัสดุ โกลบอลเฮ้าส์
เมกะโฮม ดูโฮม โดยในปี 2566
ผู้จำหน่ายเหล่านี้มีแผนเปิดสาขาใหม่ ทำให้สินค้าตราเพชรเติบโตไปพร้อมกัน
“ในแต่ละช่องทางขาย
จะมีกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน โดยเราจะสนับสนุนสินค้าที่เหมาะกับร้านค้าเพื่อไม่ให้เกิดการทับซ้อน
และพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการ อย่างที่ผ่านมาสีแดง สีน้ำตาล สีฟ้า
มีการใช้ค่อนข้างมาก ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นเทรนด์สีเทา และทุกวันนี้
เราได้พัฒนาสินค้าถึงภายในบ้าน อย่างกลุ่มไม้บันได โดยใช้สโตน พลาสติก คอมโพสิต
ร่วมกับไฟเบอร์ซีเมนต์ มาทำไม้บันได รวมถึงรับสร้างร้านกาแฟสำเร็จรูป ซึ่งช่วง 3
ปีที่ผ่านมา เราก็ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง
จนล่าสุดเป็นรูปแบบทรงนอร์ดิกตามความต้องการของผู้ประกอบการ
CT 6 เปิด ได้เห็น
120 ล้านแผ่น
นายสุนทร
สุวรรณเจตต์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการผลิตและวิศวกรรม
บมจ.ผลิตภัณฑ์ตราเพชร กล่าวว่า โครงการนวัตกรรมที่ได้ดำเนินการนั้น
เริ่มมาจากการวิเคราะห์ความเสี่ยงและนำหุ่นยนต์เข้ามาเสริมศักยภาพการทำงาน
โดยลดพนักงานจำนวน 100 กว่าคน จากแผนกแพคกิ้งไปอยู่ในส่วนอื่น อย่างกรณี
ยกตัวแผ่นฝ้าระบายอากาศมาเข้าเครื่องปั๊ม ซึ่งต้องใช้พนักงานถึง 5 คน
พอได้นำโรบอทเข้ามาช่วย ทำให้เหลือพนักงานเพียง 1 คน ที่ดูแล และสิ่งที่หนึ่งที่เป็นรูปธรรมคือ
หุ่นยนต์สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ช่วยให้บริษัทฯ ลดต้นทุนได้
ในส่วนของการขยายไลน์ผลิต
CT 6 ที่จะเพิ่มกำลังการผลิตกระเบื้องหลังคาถึง
1 แสนตันต่อปี หรือ 2 ล้านแผ่นต่อเดือน จะใช้งบประมาณลงทุนอีก 477 ล้านบาท
และคาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องการผลิตประมาณไตรมาสแรกปี 2567 โดยจุดเด่นของไลน์ CT
6 คือ
เครื่องจักรมีความแม่นยำสูงขึ้น ในการตัดแผ่นกระเบื้องให้ได้ตามขนาดที่ต้องการ และยังสามารถคำนวณค่าความชื้นของทรายที่นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระเบื้องได้
ซึ่งเครื่องจักรใน CT 6 จะบอกอย่างละเอียดว่าทรายที่ได้มามีคุณภาพในการผลิตหรือไม่
สำหรับงบลงทุน
477 ล้านบาท จะแบ่งเป็นการผลิตกระเบื้องอดามัส 11.4 ล้านแผ่น กระเบื้องลอน 11.4
ล้านแผ่น และแผ่นครอบอีก 2 ล้านแผ่น โดยขยายทั้งตัวโรงงานและเครื่องจักร ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ
สามารถผลิตทั้งกระเบื้องและแผ่นครอบรวมกันได้ 96 ล้านแผ่น และปีนี้จะเข้า 100
ล้านแผ่น จากนั้นในปี 2567 เมื่อไลน์ CT 6 เดินเครื่องผลิต ก็จะได้ยอดผลิตอยู่ที่
120 ล้านแผ่น
ขณะเดียวกัน DRT มีแผนปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ดีขึ้นต่อเนื่องภายใต้งบลงทุน
200 ล้านบาท โดยในปี 2566 จะเพิ่มกำลังการผลิตของกระเบื้องหลังคาคอนกรีตอีก 4.5% อิฐมวลเบาเพิ่มการผลิตอีก 6.5% รวมถึงดำเนินโครงการเพื่อยกระดับโรงงานไปสู่
Smart Factory อย่างต่อเนื่อง
จากการใช้ระบบ Automation
และ IoT เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการต้นทุน
ควบคู่การบริหารจัดการด้านทรัพยากรและพลังงานหมุนเวียน ภายใต้แนวคิด Circular Economy ช่วยบริหารความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนด้านต้นทุนพลังงาน
นอกจากนี้
ยังมีเป้าหมายลดต้นทุนในปี 2566 ได้กำหนดไว้ 62 โครงการ ซึ่งใน 21 โครงการ
พิจารณาเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ผ่าน Circular Economy โดยลดการใช้วัตถุดิบ
กล่าวคือ ลดความสูญเปล่าที่จะใส่เกินความจำเป็น และของเสียที่ออกมาจะถูกนำกลับมาใช้แทนวัตถุดิบอีกรอบ
ส่วนอีกเรื่องคือ Material cost improve Program ตัวอย่างเช่น
ซีเมนต์ เมื่อมีราคาที่สูงขึ้น ก็สามารถนำ Fly ash เข้ามาผสมร่วมกับซีเมนต์
ให้เกิดความแข็งแรงมากขึ้น
|