รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า
คนไทยและชาวโลกกำลังเผชิญกับปัญหาสารพิษที่แฝงอยู่รอบตัวมากขึ้น ซึ่งเสี่ยงต่อสุขภาพ
ระบบนิเวศน์ และการตกค้างในสิ่งแวดล้อม สจล.จึงมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำความปลอดภัยจากสารพิษ
สานพลังผู้ประกอบการขับเคลื่อนไทยสู่ ‘ไลฟ์สไตล์สีเขียวและวิถีออร์แกนิก’ (Green lifestyle, Organic
Environment) สนับสนุนการพัฒนาองค์กรให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืน
สจล.จึงได้จัดตั้ง สถาบันวิจัยเกษตรอินทรีย์ยุคใหม่
สจล. (KMITL
Research Institute of Modern Organic Agriculture) ซึ่งมุ่งวิจัย
พัฒนา สร้างนวัตกรรม ‘การผลิตอาหารปลอดภัยจากสารพิษ เพื่อสุขภาพของคนไทยและมนุษยชาติ
ดำเนินการการรับรองเกษตรอินทรีย์โดยสถาบัน AATSEA-KMITL และรักษาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
ส่งเสริมผู้ประกอบการและเกษตรกร เพื่อนำไปสู่การผลิตและการตลาดอย่างยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมการประกอบธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ด้านเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย โดยนำมาใช้ทดแทนสารเคมีเกษตรในการทำการเกษตรไม่ใช้สารเคมี
(NAP, Non – Agrochemical Production) เพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่เกษตรอินทรีย์ยุคใหม่อย่างครบวงจรจากต้นน้ำ
ถึงปลายน้ำ
อีกทั้งเผยแพร่องค์ความรู้ช่วยส่งเสริมภาคธุรกิจออร์แกนิกและเกษตรอินทรีย์ของไทยให้เป็นจริง
มีความมั่นคงเข้มแข็ง และยั่งยืน
การที่จะบรรลุเป้าหมายประเทศไทยเป็น ‘ฮับเกษตรปลอดสารเคมีของโลก’
ศูนย์กลางผลิตภัณฑ์-บริการออร์แกนิก ยกระดับครัวไทยเป็นครัวโลกเพื่อสุขภาพดี
เป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ที่ยั่งยืน จำเป็นต้องใช้ทรัพยากร ทั้งเครื่องมือ
บุคลากร องค์ความรู้และนวัตกรรม ตลอดจนปัจจัยต่างๆ สจล.จึงขอเชิญชวนธุรกิจอุตสาหกรรม
กิจการต่างๆ ให้หันมาใส่ใจผู้บริโภค
และแนวทางออร์แกนิกด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ด้านรศ. ดร.เกษม สร้อยทอง
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเกษตรอินทรีย์ยุคใหม่ สจล. กล่าวถึง ความสำเร็จในการทำวิจัย
‘สนามกอล์ฟออร์แกนิก’ การคิดค้นนวัตกรรม และการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ว่า
สจล.ได้ร่วมกับ สยามคันทรีคลับ บางนา
ดำเนินงานวิจัยสนามกอล์ฟออร์แกนิกครั้งแรกในประเทศไทยและอาเซียน ซึ่งความสำเร็จของผลการวิจัยในระยะ
3 เดือนของการปรับปรุงสนามกอล์ฟโดยการใช้ชีวภัณฑ์และนวัตกรรมของ สจล. พบว่า
สารอาหารในดินเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และปริมาณโลหะหนักต่างๆ
ได้ถูกย่อยสลายและลดลงอย่างเห็นได้ชัด และผลดีที่ได้จากการปรับปรุงทำให้ความเป็นกรด-ด่างของดินจากเดิมค่าความเป็นกรด
ph2-3
ได้ปรับตัวมาเป็นกลาง ph6 - 6.5 ภายในเวลา 3 เดือน
นอกจากนี้ การตรวจสอบได้บ่งชี้ว่าไม่พบสารพิษ
เช่น ยาฆ่าแมลง ไนเตรต หลังเข้าทำการปรับปรุงสนามด้วยชีวภัณฑ์
ความสำเร็จนี้จะนำไปต่อยอดกับธุรกิจไลฟ์สไตล์ให้เป็นออร์แกนิก
กิน-อยู่-เที่ยว-เล่น ต่อไป เช่น สวนผักผลไม้ ฟาร์ม รีสอร์ท แหล่งท่องเที่ยว
ศูนย์การค้า สวนสาธารณะ ศูนย์กีฬา โรงเรียน ชุมชนหมู่บ้าน เป็นต้น
สำหรับ 3 ผลงานวิจัยนวัตกรรมเด่นที่ สจล.
คิดค้นเพื่อโลกปลอดสารพิษ ได้แก่ 1. สารอินทรีย์ปรับปรุงสภาพดินและย่อยโลหะหนัก
เพื่อเร่งการฟื้นฟูสนามหญ้าจากโรคพืช พร้อมทั้งกระตุ้นความสมบูรณ์ให้กับสนามหญ้า 2.นาโนอิลิซิเตอร์
(Nano-Elicitor) เป็นนาโนเทคโนโลยีจากสารออกฤทธิ์จุลินทรีย์เสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคแก่พืช
และคีโตเมี่ยม
ผลงานวิจัยยาเชื้อป้องกันกำจัดโรคพืชและส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช และอื่นๆ
อีกมากมาย อาทิ ปุ๋ยอินทรีย์ คิงฟาร์เมอร์ (Organic Fertilizer: King
Farmer), นิวทริครอป จุลินทรีย์เพิ่มผลผลิต (Nutri-crop
:Liquid Biofertilizer), บอทเอฟ ป้องกันโรคพืช (Bot-F for
disease control), ไบโออินเส็ก จุลินทรีย์กำจัดแมลง
สารสร้างภูมิคุ้มกันแมลง (Bio-insect:
Pest-No for insect protection), ยารากัวร์ (Ya-Ra-Gua for
insect and disease control) สารควบคุมแมลง, คีเท็ก
(KETEK: increase plant growth and yield) กระตุ้นการเจริญเติบโตและเพิ่มผลผลิต,
NUTRI-FOOD : high potassium (K) increase yield, จุลินทรีย์ปรับสภาพดิน
(Bio-decomposer for soil improvement)
3. การรับรองเกษตรอินทรีย์โดย สถาบัน AATSEA-KMITL ตามมาตรฐานสากล
สจล.เปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการจนถึงเกษตรกรในทุกระดับ สนับสนุนการตรวจสอบ
การวัดประเมินผล และการรับรองเกษตรกร พื้นที่การเกษตร
ไปจนถึงผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมดจากเกษตรกรที่มีผลกระทบต่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
ผลกระทบทางภูมิสังคม และผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ
ตั้งแต่เกษตรกรรายย่อยจนถึงเครือข่ายการเกษตรขนาดใหญ่ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยและต่างประเทศ
ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยในการผลิตและการบริโภคผลผลิตทางการเกษตร อาทิ
การให้เกษตรกรเลิกใช้สารกำจัดแมลงและศัตรูพืช เปลี่ยนการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นปุ๋ยชีวภาพ
หรืออินทรีย์วัตถุ และการใช้นวัตกรรมจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ
เพื่อเพิ่มมวลชีวภาพให้แก่ธาตุในดิน
ตลอดจนการนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์การเกษตรมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม
รวมทั้งการฝึกอบรมส่งเสริมและสร้างกำลังคนผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรอินทรีย์ยุคใหม่สำหรับประเทศไทย
นอกจากนี้ สถาบันวิจัยเกษตรอินทรีย์ยุคใหม่ สจล.
ได้ขยายความร่วมมือด้านเกษตรอินทรีย์ยุคใหม่ กับต่างประเทศ อาทิ
การร่วมวิจัยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกับประเทศฟินแลนด์, Sathyabams Institute of Science
and Technology, Chennei ประเทศอินเดีย Zhejiang Academy of
Agricultural Science, Hangzhou จากจีน, Catanduanes State
University ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นต้น
อีกทั้งร่วมมือทางวิชาการและวิจัยกับประเทศในกลุ่มสมาชิกของสมาคมเทคโนโลยีการเกษตรแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(AATSEA) ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 18 ประเทศ
นายสมชาย สืบบุญศรีพงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่
บริษัท สยามเอสเตท แอนด์ โค จำกัด ในกลุ่มสนามกอล์ฟสยามคันทรีคลับ กล่าวว่า
อันตรายของสารเคมีสามารถสัมผัสและติดตามตัวเสื้อผ้าไปสู่บ้านได้ โดยบริษัทฯ ได้มุ่งมั่นในการพัฒนาบริการที่ดีที่สุดแก่ผู้มาใช้
จึงได้ร่วมมือกับ สจล. ริเริ่มทำวิจัยสนามกอล์ฟออร์แกนิกด้วยนวัตกรรมชีวภัณฑ์เป็นแห่งแรกเพื่อประโยชน์ต่อผู้มาใช้บริการ
ตลอดจนมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมสีเขียวและธุรกิจที่เสริมความยั่งยืนแก่ประเทศโดยรวม
ขณะที่นายกิตติศักดิ์ โพธิ์แก้ว โปรกอล์ฟ
/ผู้อำนวยการหลักสูตรโปรแกรมผู้บริหารระดับสูงเพื่อการเปลี่ยนแปลง กล่าวว่า
สนามกอล์ฟออร์แกนิกในต่างประเทศเริ่มแล้ว ส่วนในไทยครั้งนี้เป็นการวิจัยครั้งแรก
นับเป็นความฝันของนักเล่นกอล์ฟและโปรกอล์ฟที่จะเล่นได้อย่างมั่นใจและปลอดภัยต่อสุขภาพ
ปัจจุบันมีสนามกอล์ฟในประเทศไทยกว่า 250 แห่ง และนักกอล์ฟทั่วประเทศ มีจำนวนกว่า 2
ล้านคน ซึ่งการพัฒนาแนวคิดทางธุรกิจให้เป็นสีเขียวและออร์แกนิกนั้น
จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ปัจจุบันให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยสูงขึ้น
ทั้งยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์อันดีของประเทศไทย และสร้างความประทับใจ
พร้อมไปกับกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น