SRTA เสนอแนะ ให้ภาครัฐริเริ่มพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะ (TOD)
แล้วให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่นที่ประเทศญี่ปุ่นเกิดได้เป็นรูปธรรมแล้ว แต่ของไทยที่ผ่านมามีแค่การศึกษาและหายไป ซึ่งการทำ TOD ต้องให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่โดยรอบ
ใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น โดยสถานีกลางบางซื่ออยู่ในขั้นตอนที่กำลังพัฒนาไปตามแนวทางนี้
ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา
ประเทศไทยมีความพยายามนำแนวทางการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะ TOD (Transit Oriented Development)
ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก
ในการนำมาใช้แก้ปัญหาของเมืองใหญ่ในประเทศต่างๆ
ที่เคยมีแนวโน้มการเติบโตอย่างไร้ทิศทาง และสภาพการจราจรในเมืองที่ติดขัด
ไม่ว่าจะเป็นกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ และบอสตัน สหรัฐอเมริกา
ล้วนประสบความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟ
จนกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง
ที่กลายเป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองทั่วโลก แต่ ณ เวลานี้
ประเทศไทยอยู่จุดใดของการพัฒนาตามแนวทาง TOD และอนาคตข้างหน้าจะได้เห็นภาพการพัฒนาตามแนวทาง
TOD ได้มากน้อยแค่ไหน
TOD จะสำเร็จได้หากภาครัฐเป็นผู้นำการพัฒนา
นางสาวไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล
กรรมการบริษัทและรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) เปิดเผยถึงแนวทางการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะว่า
การพัฒนา TOD จะต้องเริ่มจากภาครัฐเป็นผู้นำในการพัฒนา
เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานรัฐ และระหว่างรัฐกับภาคเอกชน
ไปจนถึงความร่วมมือกับภาคประชาชน จึงจะเกิดภาพความสำเร็จตามแนวทาง TOD ขึ้นมาได้
ยกตัวอย่างการพัฒนา TOD ที่ประเทศญี่ปุ่น
ก็เริ่มมาจากภาครัฐออกนโยบายทำโครงการพัฒนาพื้นที่ในลักษณะของ TOD โดยรัฐเป็นผู้เริ่มต้นกำหนดแผนการพัฒนาและการลงทุน
โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ตัวสถานี ระบบรถไฟฟ้า
และระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ
แล้วค่อยดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาในส่วนต่างๆ
โดยภาครัฐจะเป็นผู้ให้การสนับสนุนให้กับเอกชนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา TOD
ในด้านนั้นๆ อีกทางหนึ่ง
จึงทำให้การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะ
เพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ
แทนการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลที่ประเทศญี่ปุ่นประสบความสำเร็จให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม
ส่วนประเทศไทยยังมองไม่เห็นความร่วมมือในการพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ
เพื่อสร้างพื้นที่พัฒนาตามแนวทาง TOD ส่วนมากจะเห็นความพยายามในการศึกษาและพัฒนาแบบเดี่ยว
ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะไปติดในเรื่องข้อกฎหมาย การวางผังเมือง การเวนคืนที่ดิน
เงินทุน และการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้นการทำ TOD ให้ประสบความสำเร็จ
ต้องเริ่มต้นจากหน่วยงานภาครัฐเข้ามาร่วมมือกัน เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงคมนาคม
การไฟฟ้า การประปา และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
โดยเฉพาะเรื่องระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ที่จะอยู่ในแผนการพัฒนา TOD ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ต้องประสานงานกันค่อนข้างเยอะ
การที่หน่วยงานต่างๆ ต้องเข้ามาประสานงานกัน
จำเป็นต้องมีองค์กรที่เป็นตัวกลาง เป็นเหมือนเจ้าภาพคอยประสานงานส่งต่อข้อมูล
เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปในแนวทางเดียวกัน อย่างที่ประเทศญี่ปุ่น
ก็มีการตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการพัฒนา TOD ขึ้นมาโดยตรง
เพื่อทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานรัฐและเอกชนที่สนใจเข้ามาลงทุน
ตามนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากภาครัฐอีกทีหนึ่ง
ที่เป็นอยู่ “ดูเหมือน” แต่
“ยังไม่ใช่ TOD”
ทุกวันนี้อาจสังเกตเห็นว่า
พื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าระบบราง ในบางสถานีมีการทำทางเดินสกายวอล์ค
เชื่อมต่อกับอาคารต่างๆ โดยรอบ การพัฒนาเหล่านี้ดูคล้ายๆ การพัฒนาตามแนวทาง TOD แต่ที่จริงแล้วเป็นเพียงสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางไปยังสถานที่
ที่อยู่ติดกับสถานีขนส่งสาธารณะเท่านั้น
นางสาวไตรทิพย์ กล่าวอีกว่า ความเป็น TOD ไม่ได้มีแค่การสร้างทางเดินเชื่อมต่อกับสถานี
สร้างศูนย์การค้า และพื้นที่อยู่อาศัยให้ใกล้กับสถานีขนส่งสาธารณะให้มากที่สุด แต่
TOD ต้องมีหลายองค์ประกอบ
หลอมรวมเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนที่อยู่อาศัยในพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะและบริเวณใกล้เคียง
ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาให้มีพื้นที่สีเขียว เช่น สวนสาธารณะ
การสร้างพื้นที่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานสะอาดในพื้นที่
สร้างพื้นที่ส่วนกลางสำหรับทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน
เพื่อให้เกิดสังคมคนเมืองที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่
ประชาชนสามารถใช้ชีวิตในพื้นที่รัศมี 600 เมตร รอบสถานีขนส่งสาธารณะอย่างมีคุณภาพ
การพัฒนาที่ดินแบบผสมผสาน (Mix used) เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างสูงสุด
การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเม็ดเงินให้หมุนเวียนในพื้นที่สูงขึ้น
การพัฒนาศักยภาพความเป็นศูนย์กลางการเดินทางในรูปแบบต่างๆ เช่น
จากรถไฟฟ้ามาเป็นการเดินทางด้วยเรือ หรือรถโดยสารประจำทาง
องค์ประกอบการพัฒนาเหล่านี้
คือสิ่งจูงใจให้ประชาชนเปลี่ยนจากการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ
ตามเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาตามแนวทาง TOD ซึ่งทุกฝ่ายต้องได้ประโยชน์ร่วมกันจากการพัฒนา
TOD ไม่ใช่การพัฒนาเพื่อประโยชน์สูงสุดของภาคอสังหาริมทรัพย์เพียงฝ่ายเดียว
TOD ของประเทศไทย
อยู่จุดไหนของการพัฒนา
ในปัจจุบันพื้นที่
ที่กำลังอยู่ในแผนการพัฒนาตามแนวทาง TOD ก็คือ สถานีกลางบางซื่อ
แม้จะอยู่ในขั้นตอนการวางแผนพัฒนา แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการวางรากฐานพัฒนา
TOD ของประเทศเพราะในอนาคตสถานีกลางบางซื่อจะเป็นศูนย์กลางการเดินทางที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
แต่คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วพื้นที่สถานีขนส่งสาธารณะแห่งอื่นๆ
จะมีโอกาสได้พัฒนาหรือไม่ และอนาคตประเทศไทยจะได้เห็นพื้นที่ TOD จริงไหม หรือเป็นเพียงแค่การเอ่ยถึงแล้วหายไป
นางสาวไตรทิพย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า
ในประเทศไทยมีหลายพื้นที่ที่มีความเหมาะสมกับการพัฒนาตามแนวทาง TOD ไม่ว่าจะเป็นสถานีรถไฟธนบุรี
สถานีรถไฟหัวลำโพง สถานีรถไฟมักกะสัน สถานีรถไฟจังหวัดนครราชสีมา
และสถานีรถไฟอื่นๆ ซึ่งสถานีรถไฟเหล่านี้มีศักยภาพพอที่จะพัฒนาในรูปแบบ TOD
ซึ่งแต่ละสถานีจะมีการพัฒนาที่แตกต่างกันไปตามรูปแบบพื้นที่
ที่มีความแตกต่างกัน
บางพื้นที่เหมาะกับการพัฒนาในฐานะศูนย์การเชื่อมต่อการเดินทางในระดับภูมิภาค
บางพื้นที่เหมาะกับการพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงอนุรักษ์เพื่อการท่องเที่ยว หรือบางพื้นที่อาจเหมาะสำหรับการพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจเต็มรูปแบบ
ขึ้นอยู่กับแผนการพัฒนาพื้นที่ของภาครัฐ
และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ว่าต้องการให้ออกมาเป็นรูปแบบใด
แต่การจะเห็นภาพพื้นที่พัฒนา TOD ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
ต้องเริ่มลงมือทำในวันนี้ ถึงจะเกิดขึ้นได้จริงในอนาคต เพราะการพัฒนา TOD ต้องใช้เวลาในการพัฒนาเป็นระยะตั้งแต่ 3–10 ปี
ไม่สามารถสร้างให้เสร็จภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งต้องใช้เวลา
สิ่งเหล่านี้ต้องเริ่มจากภาครัฐเป็นผู้นำในการพัฒนา เพราะภาคเอกชนไม่สามารถเริ่มต้นพัฒนาได้
หรือหน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องอาศัยทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนา
และต้องทำด้วยความเชื่อมั่นว่า หากตั้งใจที่จะพัฒนาประเทศอื่นทำได้
ประเทศไทยก็ต้องทำได้เช่นกัน
|