คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โชว์ศักยภาพทีมนักศึกษาไทย...หนุนครัวไทยเป็น ‘ครัวโลกที่ดีต่อสุขภาพ’
คิดค้นนวัตกรรม บะหมี่กึ่งสําเร็จรูปเสริม‘ไคโตซาน’ จากเปลือกกุ้ง (Nutrient Rich Instant Noodle
Fortified with Shrimp Shells) เป็นครั้งแรกของไทย
เพิ่มมูลค่าให้กับเปลือกกุ้งซึ่งเป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมประมง คว้า 2 รางวัล
ในการแข่งขัน SCG Bangkok Business Challenge และการแข่งขัน PTTEP
Teenergy Innovation Challenge
ทีมชริมพ์นี่ (Shrimpney) ที่คิดค้นนวัตกรรมนี้ ประกอบด้วย
นิชาภา อำพล ชัญญกัญญ์ สกุลบริสุทธิ์สุข ชุตินันท์ อุดมลาภประสิทธิ์ ธัญวี สุภาพาส
และ เพชรไพลิน พวงประดับ เป็นคนรุ่นใหม่จาก วิศวะมหิดล นักศึกษาปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ
หลักสูตรวิศวกรรมผลิตภัณฑ์นมและเครื่องดื่ม โดยมี ดร.ดลพร แซ่แต้
ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
น.ส.ชัญญกัญญ์
สกุลบริสุทธิ์สุข หนึ่งในทีมชริมพ์ กล่าวถึงที่มาของนวัตกรรม ว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารที่คนไทยคุ้นเคย
แต่หากทานในปริมาณที่มากต่อวันและต่อเนื่องกัน อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้
เนื่องจากมีปริมาณโซเดียมสูง ข้อมูลทางการแพทย์ระบุถึง
ปริมาณโซเดียมสูงสุดที่บริโภคแล้วไม่อันตราย คือ ไม่เกินวันละ 2,000 มก.
หรือเท่ากับเกลือป่น 1 ช้อนชา หากบริโภคเกินจะทำให้ไตเสื่อม
ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง เกิดโรคไต โรคหัวใจ และหลอดเลือดตามมาได้ ทีมชริมพ์นี่
จึงคิดค้นนวัตกรรมบะหมี่กึ่งสําเร็จรูปเสริมคุณค่าทางโภชนาการจากเปลือกกุ้งที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
หรือพลิกโฉมเป็น Functional Food ด้วยการลดปริมาณโซเดียม และเสริมสารสกัดไคโตซานจากเปลือกกุ้ง พร้อมกลิ่นรส
อีกทั้งยังคงรสชาติที่อร่อย
ด้าน น.ส.ธัญวี สุภาพาส
กล่าวถึงจุดเด่นและประโยชน์ว่า บะหมี่กึ่งสําเร็จรูปที่มีชื่อเรียกว่า ‘ชริมพ์นี่’
เป็นการนำสารสกัดไคโตซาน (Chitosan) จากเปลือกกุ้ง ซึ่งมีโครงสร้างเส้นใยธรรมชาติที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
เช่น ดูดจับไขมันในเส้นทางเดินอาหารได้สูง 8-10 เท่าของน้ำหนักตัวมันเอง
สามารถลดระดับ ไขมันในเลือดได้ ในด้านกระบวนการผลิตบะหมี่ ใช้การอบแทนการทอด
ใช้กลิ่นรสหอมจากเปลือกกุ้ง เพื่อลดการใช้โซเดียมในการผลิตเส้น โดยนวัตกรรมนี้มุ่งตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายหลักตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยทำงาน
รายได้ปานกลาง-สูง ชอบการรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
และมองหาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เป็นทางเลือกสุขภาพ
นอกจากนี้
ประโยชน์จากการนำเปลือกกุ้งมาใช้เป็นส่วนประกอบหลักในบะหมี่
นั้นยังจะช่วยลดปริมาณขยะในทะเล ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของภาวะโลกร้อน ตอบโจทย์ Zero Waste และความยั่งยืนในสิ่งแวดล้อม
(Sustainability) รวมทั้งสนับสนุนแนวทาง BCG เศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว
โดยนำวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรมาเพิ่มมูลค่าและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทย
งานวิจัยชิ้นนี้ใช้ระยะเวลาวิจัย 1 ปี
แม้ว่าเวลาของสมาชิกในทีมแต่ละคนจะไม่เท่ากัน แต่ทุกคนต่างทุ่มเทและสละเวลาส่วนตัวมาศึกษาวิจัยร่วมกัน
ออกไปศึกษาหาความรู้นอกห้องเรียน ฝึกทักษะพัฒนาตัวเองและการทำงานร่วมกันเป็นทีมจนทำให้งานวิจัยชิ้นนี้ออกมาเสร็จสมบูรณ์
เปิดโอกาสให้พลังคนรุ่นใหม่ได้ร่วมสร้างสรรค์ ‘ครัวไทยเป็นครัวโลกที่ดีต่อสุขภาพ’
อีกด้วย