“อมิตา” ปักธงรง.แบต ยืน 1 อาเซียน


           
        กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ สตาร์ทเครื่อง “อมิตา เทคโนโลยี” โรงงานแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ด้วยกำลังผลิตใหญ่ที่สุดในอาเซียน 1GWh/ปี ใช้ได้กับพาหนะต่างๆ อาทิ เรือ รถบัส รถสิบล้อ และถ้าสามารถเปลี่ยนรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ปัจจุบันมีอยู่ 1.3 ล้านคันมาใช้ไฟฟ้า ก็จะช่วยลดภาวะเรือนกระจก และลดการใช้น้ำมันดีเซลได้ ที่สำคัญสามารถชาร์จไฟได้ไวเพียง 15 นาที 

        บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) เดินเครื่องบริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจรที่ทันสมัยและมีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว และเป็นโรงงานแบตเตอรี่แห่งแรกที่มีกำลังการผลิตสูงถึง 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ในเขตโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเตรียมแผนขยายกำลังการผลิตสู่ 50 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีตามแผนในอนาคต 

       โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและระบบสำรองไฟฟ้าของบริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด มีกำลังการผลิตเริ่มต้น 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งระยะแรกนี้มีความพร้อมที่จะขยายกำลังการผลิตได้สูงสุดถึง 4 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีในทันที มีพื้นที่การผลิตภายในโรงงานรวมกว่า 80,000 ตร.ม. เป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ชนิด Pouch Cell และระบบสำรองไฟฟ้าแบบครบวงจรที่ใช้ระบบอัจฉริยะ และระบบการผลิตอัตโนมัติที่ทันสมัยเพื่อให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพสูงสุดและต้นทุนไม่สูง 



      นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดให้อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ new S-Curve ตามยุทธศาสตร์ที่มุ่งส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทย รวมทั้งสนับสนุนด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการลดมลพิษและภาวะโลกร้อน 

      ทั้งนี้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายด้านยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติขึ้น เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ยกระดับไปสู่การเป็นฐานผลิตยานยนต์สมัยใหม่ของอาเซียน รวมทั้งชิ้นส่วนสำคัญ อาทิ แบตเตอรี่ ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จึงเป็นหนึ่งในผู้ผลิตแบตเตอรี่รายสำคัญ ซึ่งทราบว่าสามารถผลิตได้ถึงระดับเซลล์แบตเตอรี่ขั้ว cathode (ขั้วลบ) และ anode (ขั้วบวก) ซึ่งการเปิดโรงงานอมิตาในครั้งนี้ จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยรักษาจุดยืนความเป็นผู้นำฐานการผลิตยานยนต์ในภูมิภาค และต่อยอดเข้าสู่เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าได้เร็วขึ้น 



      นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) เปิดเผยว่า โรงงานดังกล่าวจะเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) โดยได้ออกแบบให้โรงงานแห่งนี้ใช้ระบบที่ทันสมัย ติดตั้งเครื่องจักรที่ดีที่สุดในโลกมาใช้ในแต่ละกระบวนการ เพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังสามารถปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการผลิตต่างๆ ได้ง่ายเพื่อตอบโจทย์เทคโนโลยีต่างๆ ในอนาคต 

      ปัจจุบันประเทศไทย มีรถยนต์ส่งออกเชิงพาณิชย์ที่จดทะเบียน 1.3 ล้านคัน ดังนั้นถ้าเปลี่ยนมาใช้เป็นแบตเตอรี่ได้ทั้งหมดจะช่วยต้นทุนค่าขนส่งได้มาก และที่สำคัญรถเชิงพาณิชย์มีการเปลี่ยนปีละกว่า 8 หมื่นคัน ซึ่งทำให้เกิดการใช้แบตเตอรี่ประมาณ 16 gwh/ปี และถ้าตรงนี้ทำสำเร็จ ประเทศไทยจะได้โปรดักส์แชมป์เปี้ยนตัวใหม่ อีกทั้งจะช่วยต่อยอดนำไปใช้ในรถยนต์นั่งส่วนบุคคลได้อย่างแน่นอน ถ้าได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ 

     “เรือของเราที่ให้บริการในแม่น้ำเจ้าพระยา มีแบตเตอรี่มากกว่ารถเมล์ที่เราประกอบเองถึง 3 เท่า แต่ใช้เวลาชาร์จไฟแบตในเรือเพียง 15 นาที และหลังจากนี้อีกประมาณ 1 เดือน จะมีรถยนต์เชิงพาณิชย์จากโรงงานใหม่ของกลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ ที่ อ.บ้านโพธิ์ ใกล้แล้วเสร็จ ออกมาให้บริการ ซึ่งสามารถชาร์จไฟได้ไวเป็นรายแรกของไทยและของโลก ที่เราภูมิใจมาก” นายสมโภชน์ กล่าว 



      อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) นี้มีขนาดพื้นที่กว่า 90 ไร่ เกิดขึ้นจากกลุ่มพลังงานบริสุทธิ์เข้าไปร่วมทุนกับบริษัท อมิตา เทคโนโลยี อิงค์ (ไต้หวัน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในไต้หวันมากว่า 20 ปี ถ่ายทอดประสบการณ์และเทคโนโลยีในการสร้างโรงงานจนเป็นผลสำเร็จ เพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ชนิด Pouch Cell และใช้เทคนิคพิเศษในการผลิตเซลล์ เพื่อให้สามารถคัดแยกแผ่นขั้วบวกและขั้วลบได้ง่ายในขั้นตอนของการรีไซเคิล

     แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ผลิตได้สามารถนำไปใช้กับยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า และเรือโดยสารไฟฟ้า อีกทั้งแบตเตอรี่ของ อมิตายังออกแบบให้เข้ากันกับเทคโนโลยีแบบ Ultra-Fast Charge ที่รองรับการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้ภายในเวลาเพียง 15 นาที พร้อมรองรับการชาร์จได้สูงถึง 3,000 รอบ ที่จะเป็นจุดเด่นสำหรับรองรับการใช้งานของยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ 

                      

      สำหรับการผลิตได้ในระยะเริ่มต้น ขนาด 1 กิกะวัตต์ หรือ 1,000,000 กิโลวัตต์ สามารถนำมาใช้ในรถโดยสารไฟฟ้า ขนาด 11 เมตร ซึ่งขับเคลื่อนได้ระยะทางสูงสุด 240 กิโลเมตร ได้ถึง 4,160 คันต่อปี และการใช้รถโดยสารไฟฟ้า จำนวน 4,160 คัน สามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ประมาณ 91,709 ตันต่อปี และลดการใช้น้ำมันดีเซลได้กว่า 97,066,667 ลิตรต่อปี เมื่อเทียบกับรถโดยสารที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันดีเซล 

      นอกจากนี้ EA ยังคิดไกลแบบก้าวกระโดด ด้วยการขยาย Supply Chain ให้กว้างขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุน ลดขยะและลดการพึ่งพาจากภายนอก โดยมีการสร้างหอกลั่นสาร Solvent ที่ใช้ในกระบวนการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ เพื่อทำให้บริสุทธิ์จนสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ทำให้มีของเสียน้อยลง และลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ 

     อีกทั้งยังได้สร้างโรงงานผลิตสาร Electrolyte ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่สำคัญที่เป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพของเซลล์แบตเตอรี่ใช้เองเป็นรายแรกในภูมิภาคอาเซียน ประกอบกับมีทีม In House R&D ทำให้สามารถนำสาร Electrolyte ที่ผลิตเสร็จ มาทดสอบในเซลล์แบตเตอรี่เพื่อวัด Performance ได้ทันที และสามารถคิดค้นพัฒนาสูตรเองให้ดียิ่งขึ้นตลอดเวลา 

         

     บริษัทฯ ยังมีการนำระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ที่ผลิตได้เองมาใช้เป็นแหล่งจ่ายไฟฟ้าสำรองให้กับเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีความสำคัญและต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีโรงรีไซเคิลเพื่อลดขยะที่เป็นพิษ เป็นการคิดและออกแบบกระบวนการผลิตแบบครบวงจร ซึ่งเป็นจุดแข็งที่โดดเด่น สามารถเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็น New S-Curve ตามยุทธศาสตร์ของประเทศ ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

 
 
เว็บสำเร็จรูป
×