แพลตฟอร์มโลจิสติกส์ในชื่อ “MELOG” เกิดขึ้นแล้ว
เป็นสตาร์ทอัพใหม่ที่ส่งเสริมโดยพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พัฒนามาเพื่อแก้ปัญหาในด้านขนส่งหลักๆ
3 ด้าน ได้แก่ ต้นทุนการขนส่ง ติดตามสถานะ และการจัดการที่ทันสมัย โดยในระยะแรกจะมีระบบติดตามรถว่าวิ่งไปที่ใด
พักตรงไหน สรุปรายได้แต่ละเดือน ฯลฯ จากนั้นระยะที่ 2 จะใช้ AI มาวิเคราะห์การขับขี่
พฤติกรรม ลักษณะเส้นทาง
ผศ.ดร.รัชนี กุลยานนท์
รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
(สจล.) กล่าวว่า สถานการณ์โลจิสติกส์และรถขนส่งในปัจจุบัน ตลาดผู้ให้บริการโล จิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียนกำลังเติบโตสูงประมาณปีละ
15-20%
ทำให้ธุรกิจนี้น่าสนใจ ด้วยปริมาณรถบรรทุกในไทยที่จดทะเบียนในระบบมากกว่า 1.5 ล้านคัน
สจล.จึงได้ส่งเสริมสตาร์ทอัพ ‘มีล็อก’ MELOG พัฒนาแพลตฟอร์มโลจิสติกส์และรถขนส่งครบวงจร
โดยได้รับการสนับสนุนทุนจากโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup)
ของกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED FUND) นับเป็นโอกาสของสตาร์ทอัพบริการโลจิสติกส์ในประเทศไทย
โดยสอดคล้องกับแนวทาง สจล.ในการส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ (Startup) และการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาพัฒนาบริการและยกระดับผู้ให้บริการขนส่งสู่พลังความเข้มแข็ง
(Synergy) ตลอดจนธุรกิจโลจิสติกส์ของประเทศให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
คุณสิริพงศ์ จึงถาวรรณ ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ และ ผอ.ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท
มีล็อก จำกัด (MELOG) กล่าวถึงแรงบันดาลใจและที่มาของ
‘มีล็อก’ (MELOG) ว่า
ในช่วงเรียนปริญญาเอกด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)
ได้สำรวจและศึกษาข้อมูลเชิงลึกจากผู้ประกอบการขนส่งกว่า 200
ราย แล้วพบว่า ผู้ให้บริการโล จิสติกส์
(Logistics Service Provider: LSP) ส่วนใหญ่มีกำไรน้อยเพียง 1–5% ผู้ให้บริการขนส่งบางรายยอดขายกว่า 1,000 ล้านบาท
แต่กำไรเพียง 10 ล้านบาท
เพราะธุรกิจนี้แข่งขันด้านราคากันอย่างรุนแรง อีกทั้งการขยายตัวและการแข่งขันของ Marketplace
และ E-Commerce มีการทุ่มตลาดของผู้เล่นรายใหญ่
การจัดโปรขนส่งฟรี ทำให้ผู้เป็นเจ้าของรถขนส่งได้กำไรน้อยลง หรือขาดทุน
‘มีล็อก’ (MELOG) จึงมีความมุ่งมั่นพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ธุรกิจบริการขนส่งยุคใหม่
โดยมุ่งแก้ปัญหาหลัก 3 ด้าน ของผู้ประกอบการขนส่ง ได้แก่ 1.
การบริหารต้นทุนขนส่ง เพราะต้นทุนขนส่งกว่า 60% มาจากต้นทุนด้านเชื้อเพลิง ยาง น้ำมันเครื่อง การซ่อมบำรุง
และการเกิดอุบัติเหตุ ถ้าสามารถลดต้นทุน บาท/กิโลเมตรได้
ผู้ประกอบการก็จะมีกำไรมากขึ้น จากการนำเทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวก
เหมือนโปรแกรม ERP ในโรงงานอุตสาหกรรม
2. การติดตามสถานะ ช่วยให้ผู้เป็นเจ้าของไม่ต้องกังวลใจกับพนักงานขับรถ
รถบรรทุก และสินค้าที่จะต้องส่งไปยังจุดหมายปลายทางให้ตรงเวลา เพราะได้นำเทคโนโลยีโลจิสติกส์
(LogTech) มาช่วยในการติดตามสถานะและอัพเดทได้ตลอดเวลา รวมไปถึงศึกษาพฤติกรรมของผู้ขับขี่รถบรรทุก
3. การจัดการที่ทันสมัย
เพื่อยกระดับภาคการขนส่งที่พบว่าผู้ประกอบการ 25,500 ราย
มากกว่า 98% ยังไม่ได้รับรองมาตรฐาน Q-Mark โดยมีเพียง 2% เท่านั้นที่ได้รับการรับรอง
รวมไปถึงการต่อยอดด้านบริการการเงิน เพื่อให้เครดิตสกอร์สำหรับผู้ขับรถมืออาชีพ
จะสามารถนำเงินมาหมุนในธุรกิจได้
ในเฟสที่ 1 จะมีระบบติดตามรถบรรทุก
สามารติดตามรถบรรทุกได้ว่าจะวิ่งไปที่ใดบ้าง จอดหลายๆ จุด (Multidrop) คำนวณต้นทุน บาท/กิโลเมตร การใช้ความเร็วที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
การใช้ยาง การแจ้งเตือนการซ่อมบำรุง และติดตามรถในกองยานพาหนะทุกคัน
รวมไปถึงการสรุปรายได้ในแต่ละเดือน และการควบคุมมาตรวัดที่สำคัญในงานโลจิสติกส์
และขยายบริการ Marketplace ฝั่งลูกค้าที่ต้องการหาผู้ขนส่งเข้าไปรับของจะโพสงานได้
ฝั่งความต้องการ และอีกด้านจะเป็นฝั่งอุปทาน เจ้าของรถ และตัวแทน
ก็สามารถเข้ามาโพสรับงานได้ ดูระยะทาง ประเภทรถ และค่าบริการในระบบ
ต่อยอดไปถึงการบริหารรถ และการจัดการงานซ่อมบำรุง - จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์
โดยนำพันธมิตรมาทำงานร่วมกัน เช่น ผู้ผลิตยาง ผู้ผลิตน้ำมันเครื่อง
ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถบรรทุก ฯลฯ
คุณสิริพงศ์ กล่าวถึงแผนการตลาดว่า
ตลาดเทคโนโลยีโลจิสติกส์ทั่วโลกนั้นมีมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท
สำหรับบริการรถขนส่งของไทยมีมูลค่า 1 แสนล้านบาท
ส่วนตลาดเทคโนโลยีโลจิสติกส์ในประเทศไทยมีมูลค่า 3,500
ล้านบาท ‘มีล็อก’ (MELOG) ตั้งเป้าหมาย 200 ล้านบาท
โดยมุ่งกลุ่มเป้าหมายลูกค้าผู้มีรถบรรทุกที่ในวงการเรียกว่า
‘เถ้าแก่น้อย’ซึ่งในประเทศไทยมีจำนวนกว่า 100,000 ราย
และผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์กว่า 25,500 ราย
รวมไปถึงรถบรรทุกที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งกว่า 1.5 ล้านคัน
ได้แก่ รถบรรทุก รถกระบะ รถตู้
การสร้างรายได้ มี 4 รูปแบบ คือ 1.
กลุ่มลูกค้ารายย่อย (B2C) แบบเช่าระบบ อัตรา 500
– 1,200 บาท/คัน (ขึ้นกับ Feature ที่ใช้) 2. กลุ่มลูกค้าองค์กร (B2B)
อัตรา 50,000 – 70,000 บาท/องค์กร
และมีการดูแลระบบรายปี 3. รายได้ตัวแทน
(แบ่งจากการจับคู่งาน) ซึ่งจะมีทีมพัฒนาธุรกิจจัดหางานมาให้
และดูแลเรื่องทีมรถบรรทุกเขารับงานตามสัญญาว่าจ้างเป็นโครงการๆ ไป 4. การฝึกอบรมและให้คำปรึกษา
พัฒนาระบบขนส่งและบุคลากรให้เป็นพนักงานมืออาชีพ (Smart Driver)
ทั้งนี้ ในตลาดส่วนใหญ่จะไปพัฒนาส่วนปลายน้ำ แต่บริษัทฯ
มองกลับไปเริ่มที่ต้นน้ำ ซึ่งจะช่วยพนักงานขับรถ เจ้าของรถ และผู้ต้องการจ้างงาน สามารถติดตามและควบคุมต้นทางว่าจะจัดส่งสินค้าอย่างไรให้ปลอดภัย
ต้นทุนกี่บาทต่อกิโลเมตร ทำให้ผู้ประกอบการสามารถทราบต้นทุน และกำไรที่แท้จริง
เที่ยวต่อเที่ยว และต่อยอดไปยังการบริหารกระแสเงินสด และการนำเงินไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ
หรือองค์กรที่มีรถบรรทุกของตัวเองก็สามารถนำระบบ ‘มีล็อก’ (MELOG) นี้ไปติดตามรถบรรทุกในกองยานพาหนะของตนเองได้
เสมือนเป็น Mini-ERP ของธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์
นอกจากนี้ในอนาคต‘มีล็อก’ (MELOG) ยังรองรับการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยียานยนต์จากการใช้เชื้อเพลิงน้ำมัน
ไปสู่ รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าอีกด้วย
สำหรับแผนในอนาคต
เฟสที่ 2 บริษัท มีล็อก
จะนำระบบเครื่องจักรที่เรียนรู้ได้ (Machine Learning) และปัญญาประดิษฐ์(
AI) เข้ามาช่วยให้ระบบศึกษาและวิเคราะห์พฤติกรรมผู้ขับรถบรรทุก
ลักษณะเส้นทาง การวิ่ง การทำเวลา รวมไปถึง การคาดการณ์ด้านการขนส่ง
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยยกระดับมาตรฐานของวงการโลจิสติกส์ในประเทศไทยให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น
|