พื้นที่ Orestad ทางตะวันออกของโคเปนเฮเกนได้ถูกพัฒนาขึ้นด้วยแนวทาง TOD เพื่อเสริมกับแผนงาน
Finger plan ซึ่งมีการพัฒนาทางเท้า โดยเฉพาะเส้นทางจักรยาน
ที่มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ซูเปอร์ไฮเวย์ สัญญาณสำหรับการขับขี่ ทำให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ
การเดิน จักรยาน รวมกันมากถึง 78% แทนการใช้รถส่วนตัว และภายในปี
2567 จะส่งเสริมให้ประชาชนให้มาขี่จักรยานให้ได้ 50% ถือเป็นเมืองต้นแบบที่ดีในการนำไปประยุกต์ใช้
เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก
เป็นหนึ่งในเมืองที่มีการนำ TOD (Transit Oriented Development) หรือแนวทางการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะ
มาใช้ในการพัฒนาเมืองในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
ส่งผลให้เมืองนี้มีอัตราการใช้จักรยานเดินทางสูงถึงร้อยละ 44 เปอร์เซ็นต์
ของการเดินทางสัญจรทั้งหมดของเมือง ขณะที่เมืองใหญ่ที่นำแนวทาง TOD มาใช้
ส่วนใหญ่แล้วจะมีอัตราการใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากกว่าการเดินทางในรูปแบบอื่น
อะไรที่ทำให้ TOD ของเมืองโคเปนเฮเกน
มุ่งเน้นการพัฒนาเส้นทางจักรยาน จนได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงแห่งจักรยาน
เรื่องราวการพัฒนา TOD ของเมืองนี้เริ่มต้น
ในปี พ.ศ.2490 สำนักวางผังเมืองกรุงโคเปนเฮเกน ได้เริ่มแผนพัฒนาเมืองที่เรียกว่า Finger
plan หรือนิ้วทั้ง 5 ของโคเปนเฮเกน
เพื่อป้องกันการกระจุกตัวของประชากรในใจกลางเมือง
ด้วยการสร้างระบบขนส่งสาธารณะกระจายไปยังโซนพื้นที่รอบนอกด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกของเมือง
แยกออกเป็น 5 โซน ซึ่งแผนการพัฒนานี้ มีความคล้ายคลึงกับแนวทางของ TOD ในแง่การใช้ระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมต่อพื้นที่ต่างๆ เข้าสู่ใจกลางเมือง
แต่มีความแตกต่างตรงที่ Finger plan ไม่มีแผนรองรับเรื่องการสร้างโครงข่ายทางเดินเท้าและจักรยาน
การจัดสรรพื้นที่แบบผสมผสาน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ
ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในระยะยาว ส่งผลให้มีการเพิ่มจำนวนการใช้งานรถยนต์ในเมืองโคเปนเฮเกนสูงขึ้นทุกปี
จนเกิดปัญหารถติดและมลภาวะทางอากาศอย่างเลี่ยงไม่ได้
ปัญหาและเวลาผ่านมาล่วงเลยจนเข้าปี พ.ศ.2523
เกิดวิกฤตราคาน้ำมันแพง ปัญหาการจราจรติดขัดถึงขั้นที่ทำให้ชาวเมือง
รวมตัวกันเรียกร้องต่อสภาเมืองให้มีการสร้างเส้นทางสำหรับจักรยานที่มีความปลอดภัยสำหรับพวกเขา
เพื่อแก้ปัญหารถติดและราคาน้ำมันแพง
การสร้างเส้นทางจักรยานจึงเริ่มต้นขึ้นนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะหยุดยั้งการเติบโตของจำนวนรถยนต์บนท้องถนนในกรุงโคเปนเฮเกน
กระทั่งในปี พ.ศ.2533
มีโครงการพัฒนาพื้นที่ใหม่ที่ชื่อว่า Orestad ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกของเมือง
บ้างก็เรียกว่าเป็นนิ้วพิเศษของโคเปนเฮเกน บ้างก็ว่าเป็นข้อมือ แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนาพื้นที่นี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโคเปนเฮเกน
เพราะเป็นพื้นที่ที่มีการนำแนวทางการพัฒนา TOD มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ
และเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับการพัฒนาเมืองที่มีอยู่ จึงมีการนำแนวทาง TOD
มาเสริมกับแผนพัฒนานิ้วทั้ง 5 ของโคเปนเฮเกน ด้วยการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะ
ปรับปรุงโครงข่ายทางเดินเท้า และเส้นทางจักรยานให้ดีขึ้นกว่าเดิม
นับจากนั้นเป็นต้นมา เริ่มมีการแบ่งพื้นที่ถนนมาใช้ในการสร้างเส้นทางจักรยานและโครงข่ายทางเดินเท้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป
เริ่มจากพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะย่าน Orestad และใจกลางเมืองโคเปนเฮเกน
แล้วกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ด้วยโครงการและแนวทางในการพัฒนาดังต่อไปนี้
- สร้างเส้นทางจักรยานปลอดภัย
เลนจักรยานมีความกว้างพอที่จะปั่นจักรยานตีคู่ หรือแซงได้อย่างปลอดภัย
มีขอบกั้นชัดเจนระหว่างทางเดินเท้า กับเลนรถยนต์ และมอเตอร์ไซค์ก็ไม่สามารถเข้ามาใช้เลนจักรยานได้
- สร้างเส้นทางพิเศษสำหรับจักรยานโดยเฉพาะ เช่น
การสร้างเส้นทางลัดสำหรับจักรยานที่ชื่อว่า Cycle Snake หรือโครงการสร้างซูเปอร์ไฮเวย์สำหรับจักรยาน
จากพื้นที่ชานเมืองเข้าสู่ตัวเมือง
- มีกฎจราจรและสัญญาณไฟสำหรับจักรยานโดยเฉพาะ
ผู้ขับขี่จักรยานทุกคนจะต้องขับขี่ไปตามช่องทาง และทิศทางที่กำหนดเท่านั้น
-
สร้างจุดจอดรถจักรยานอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง
จัดกิจกรรมส่งเสริมการปั่นจักรยาน เช่น วันคาร์ฟรีเดย์ กิจกรรมแจกจักรยานคันใหม่
มีบริการฉุกเฉินสำหรับผู้ใช้จักรยาน รวมทั้งดูแลเส้นทางจักรยานไม่ให้ทรุดโทรม
เส้นทางจักรยานจึงดูใหม่เสมอ
นโนบายและโครงการทั้งหมดนี้ทำให้การปั่นจักรยานในเมืองโคเปนเฮเกน
มีความสะดวกรวดเร็วและถึงที่หมายเร็วกว่าการขับรถส่วนบุคคลถึงครึ่งหนึ่ง
และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่อวันถึง 3 เท่า มีจำนวนผู้ใช้จักรยานเพิ่มจากปี พ.ศ.2523
ที่มีจำนวนผู้ใช้จักรยานเดินทางในแต่ละวันอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ ได้เพิ่มขึ้นมาแตะระดับ
44 เปอร์เซ็นต์ในปี พ.ศ.2562 และจากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2562
พบว่าชาวเมืองโคเปนเฮเกนนิยมการเดินทางด้วยการเดิน เฉลี่ยอยู่ที่ 7 เปอร์เซ็นต์
และใช้ระบบขนส่งสาธารณะอยู่ที่ 27 เปอร์เซ็นต์
เมื่อเอาตัวเลขการเดินเท้าและระบบขนส่งสาธารณะมารวมกับตัวเลขการปั่นจักรยานเพื่อการเดินทาง
ก็จะได้ยอดรวมการเดินทางที่ช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล สูงถึง 78
เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม เมืองโคเปนเฮเกนก็ไม่ได้หยุดการพัฒนาไว้แต่เพียงแค่นี้
พวกเขาตั้งเป้าขยายเส้นทางและสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินตามแผนนิ้วทั้ง 5
ของโคเปนเฮเกนที่ได้วางรากฐานเอาไว้ตั้งแต่ต้น
โดยนำแนวทางพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะ TOD เข้าไปเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ขณะที่เส้นทางจักรยานซึ่งกลายเป็นจุดเด่นของโคเปนเฮเกน
ก็ยังพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยตั้งเป้าพัฒนาเส้นทางจักรยานเพื่อดึงดูดประชาชนให้หันมาใช้จักรยานในการเดินทางเฉลี่ยต่อวัน
เพิ่มขึ้นเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของการเดินทางทั้งหมดในเมือง ภายในปี พ.ศ.2567
นับเป็นความสำเร็จของ TOD ที่เข้ามาช่วยเสริมศักยภาพให้กับแผนการพัฒนา
Finger Plan ของเมืองโคเปนเฮเกน
ในการพัฒนาโครงข่ายทางเดินเท้าและเส้นทางจักรยานที่ปลอดภัย ส่งผลให้โคเปนเฮเกน
สามารถจูงใจให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เดินเท้า และปั่นจักรยาน
ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล จนกลายเป็นเมืองหลวงแห่งจักรยาน ต้นแบบการพัฒนาเส้นทางจักรยาน
ที่นักวางผังเมืองต่างยกให้เป็นกรณีศึกษา ที่ควรค่าแก่การนำมาพัฒนาทุกเมืองทั่วโลก
|