คณะวิศวฯ ม.มหิดล ชี้ให้เห็น ผับ Mountain B ขาดระบบเซฟตี้หลายจุด
วัสดุซับเสียงที่ไม่ทนไฟ มีทางออกทางเดียว ไม่มีอุปกรณ์ตัดไฟ ฯลฯ โดยมีหลักการสำหรับผู้ประกอบการหากจะทำธุรกิจสถานบันเทิง
ต้องมีการแจ้งเตือน อาทิ แสดงแบบแปลนภายในอาคาร ระบบเตือนเพลิงไหม้ ทางหนีไฟต้องมีอย่างน้อย
3 จุด
ดร.สุพรรณ ทิพย์ทิพากร
หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหิดล กล่าวว่า ผับ Mountain B ที่เกิดเหตุเพลิงไหม้นั้น
เกิดจากมีประกายไฟแถวเวทีบริเวณหลังคา ซึ่งมีการเดินไฟสปอตไลท์สีอย่างหนาแน่น
ซึ่งหากทำไม่ได้มาตรฐาน หรือมีการใช้ไฟเกินกำลังก็อาจทำให้สายไฟเกิดการลัดวงจร อาจเป็นต้นเหตุทำให้เกิดลุกลามไปยังแผ่นซับเสียงติดไฟลามไปทั่วอาคารได้เร็ว
ตามข้อกำหนดทางกฎหมายนั้นมาตรฐานมีอยู่แล้วเพื่อความปลอดภัย
แต่ความย่อหย่อนในการบังคับใช้กฎหมาย
อาจมีส่วนทำให้เกิดความสูญเสียที่ป้องกันได้และไม่น่าจะเกิด
กลายเป็นการล้อมคอกซึ่งไม่นานก็ลืมเลือนกับบทเรียนที่เคยมีมาดังเช่นไฟไหม้ผับซานติก้าเมื่อปี
2551
ซึ่งประตูทางออกมีน้อย ผู้คนวิ่งเบียดล้มทับเสียชีวิต ขาดระบบดับเพลิง การติดตั้งไฟฉุกเฉิน
หรือการแสดงเส้นทางหนีไฟไม่ชัดเจน
ลักษณะของอาคารผับ Mountain B
เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก
เดิมเป็นร้านอาหารต่อมาได้มีการต่อเติมและเปิดเป็นสถานบริการมีดนตรีสด เครื่องดื่ม
ขนาดหน้ากว้างประมาณ 20 เมตร ลึก 30
เมตร สูง 5 - 6 เมตร โครงสร้างเหล็ก หลังคามุงด้วยแผ่นเมทัลชีท
ภายในบุด้วยวัสดุแผ่นซับเสียงซึ่งติดไฟได้ง่าย และระบบเดินสายไฟฟ้าอาจมีความเสี่ยง
ซึ่งรอฝ่ายเจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์หลักฐาน และไม่พบอุปกรณ์เครื่องตัดกระแสไฟ
จะเห็นว่ามีหลายส่วนที่ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานความปลอดภัย เช่น
ด้านหน้ามีทางออกทางเดียว ซึ่งตามกฎหมายสำหรับสถานบริการที่จุคนได้สูงสุด 400 คน จะต้องมีทางหนีไฟ (Fire Exit) ไม่น้อยกว่า 3 แห่ง ซึ่งหากมีเวทีแสดงก็จะต้องมีประตูหนีไฟเพิ่มอีก 1 จุด ด้านหลังเวทีโดย ผลักออกได้ทางเดียว
แต่ในที่เกิดเหตุมีประตูหลักด้านหน้าเป็นบานกระจกคู่ ด้านข้างมีอีก 1 ประตู แต่ตกแต่งสีกลมกลืนกับผนังในอาคาร มีเพียงพนักงานที่ทราบ
ส่วนด้านหลังเป็นประตูธรรมดาบานเดียว
ผับแห่งนี้มีถังดับเพลิงเพียง 2 ชุดเท่านั้น โดยสถานบริการประเภท
ค ซึ่งมีพื้นที่มากกว่า 500 ตารางเมตร
จะต้องมีระบบดับเพลิงอัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพ เพียงพอและเหมาะสม ส่วนการบุผนังและเพดานด้วยแผ่นซับเสียงซึ่งทำมาจากโพลีสไตลีน
หรือโพลียูรีเทน หรือ โพลีโพพีลีน ทนไฟได้เพียง 200
กว่าองศาเซลเซียส สามารถลุกติดไฟได้ ในจุดนี้ก็ขัดกับกฎกระทรวงมหาดไทย
ว่าด้วยการก่อสร้างโรงมหรสพ
ที่ระบุให้ต้องใช้แผ่นซับเสียงหรืออุปกรณ์ที่ทนไฟได้เกิน 750
องศาเซลเซียส แม้ราคาจะสูงกว่าแต่มีความปลอดภัย อีกจุดหนึ่งก็คือ ขาดระบบไฟฉุกเฉิน
หรือจ่ายไฟฟ้าสำรอง เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้หรือไฟฟ้าดับภายในสถานบริการต้องมีเครื่องหมายแสดงเส้นทางฉุกเฉิน
ระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้และไฟส่องสว่าง
ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาและป้องกันการเกิดเหตุซ้ำขึ้นมาอีก
จึงมี 10
ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ประกอบการสถานบริการและสถานบันเทิง ดังนี้
1. การออกแบบอาคารและก่อสร้างต้องคำนึงถึงมาตรฐานทางวิศวกรรมความปลอดภัย
รวมทั้งการระบายควันจากอัคคีภัย และปฏิบัติตามกฏหมายควบคุมอาคาร “ราชกิจจานุเบกษา
กฎกระทรวง
กำหนดประเภทและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ พ.ศ.
2555” เช่น มีจำนวนทางหนีไฟ (Fire Exit) ตามที่กำหนด
มีระบบดับเพลิงอัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพ
เพียงพอและเหมาะสมกับจำนวนพื้นที่และผู้มาใช้บริการ การเดินสายไฟฟ้า
ระบบเสียงและระบบสัญญานต่างๆ ให้เดินในรางหรือร้อยท่อสายไฟซึ่งทำด้วยโลหะ
ต้องฝึกซ้อมแผนฉุกเฉิน เป็นต้น
2. ต้องมีระบบสายไฟฟ้าที่มีมาตรฐานที่ออกแบบวางแผนตามหลักวิศวกรรม
พร้อมอุปกรณ์ตัดไฟ และติดตั้งโดยผู้เชี่ยวชาญทางวิชาชีพ
3. ควรติดตั้งแบบแปลนแผนผังอาคาร
ซึ่งแสดงตำแหน่งที่ติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง ทางหนีไฟ ทางออก และประตูทางออก
ไว้ในตำแหน่งที่ผู้มาใช้บริการเห็นได้ชัดเจน
4. จัดให้มีระบบไฟฟ้าสำรอง
สำหรับระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ ไฟฉุกเฉิน ป้ายบอกทางหนีไฟชนิดเรืองแสง
5. ควบคุมความจุคนของผู้ใช้บริการ
หรือผู้ที่เข้าร่วมงานที่มีความเหมาะสม เพื่อความปลอดภัย ในการใช้อาคาร
6. ควรฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินแก่พนักงาน
เพื่อเป็นผู้นำแก่ลูกค้าในยามเกิดเหตุ โดยกำหนดบุคคลและบทบาทหน้าที่ชัดเจนในการดูแลระบบความปลอดภัย
และการป้องกันอันตรายจากอัคคีภัยตลอดเวลาที่เปิดบริการ และเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
ใครต้องทำอะไร
7. ก่อนเปิดบริการหรือจัดงานอีเว้นท์
ควรจัดให้มีการตรวจสอบเครื่องดับเพลิง หรืออุปกรณ์ต่างๆ
ที่ใช้ในการดับเพลิงให้มีความพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลาที่มีการเปิดบริการ
8. ระหว่างจัดงานหรือเปิดบริการ
ควรประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการและผู้เข้าร่วมงานทราบ ถึงทางเข้าออกและทางหนีไฟ
รวมทั้งข้อควรปฏิบัติกรณีเหตุฉุกเฉิน
9. วัสดุโฟมซับเสียงหลีกเลี่ยงการตกแต่งอาคารสถานที่ด้วยวัสดุตกแต่งที่ติดไฟง่ายหรือลามไฟเร็ว
และงดการใช้อุปกรณ์เอฟเฟค ของเล่น
ที่ทำให้เกิดประกายไฟในสถานที่จัดงานหรือสถานบริการโดยเด็ดขาด
10. ควรพิจารณาทำประกันภัยเพื่อคุ้มครองเหตุที่อาจเกิดโดยไม่คาดคิด
สำหรับข้อแนะนำสำหรับประชาชน
มีดังนี้
1. การใช้บริการของสถานบริการและสถานบันเทิง ควรตรวจสอบการใช้งานของระบบป้องกันอัคคีภัยของอาคาร
และบริเวณโดยรอบสถานบริการ
2. ศึกษาข้อมูลเส้นทางหนีไฟ ประตูฉุกเฉินภายในอาคารที่เข้าไปใช้บริการ
3. กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ผู้มาใช้บริการต้องมีสติสัมปชัญญะ
และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ประกอบการหรือผู้จัดงานอย่างเคร่งครัดตามที่มีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบ
4. หมอบคลานต่ำหรือย่อตัวใกล้กับระดับพื้นมากที่สุด
เนื่องจากอากาศบริสุทธิ์อยู่เหนือระดับพื้นไม่เกิน 1 ฟุต
เพื่ออพยพไปสู่ประตูทางออกฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุด
5. หากเป็นอาคารสูง งดการใช้ลิฟท์ หรือบันไดในอาคารในการอพยพ ควรใช้บันไดหนีไฟนอกอาคาร
เพื่อลดความเสี่ยงจากการสูดควัน
|