“DisasterLink” เพิ่มการรอดชีวิตจากแผ่นดินไหว



           นักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล สร้างชื่อเสียงอีกครั้ง ในเวที Invent For The Planet 2023 ที่สหรัฐฯ โดยคิดค้น “ระบบดิซาสเตอร์ลิ้งค์” เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ติดซากปรักหักพังจากเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งนวัตกรรมนี้ได้ใช้ประโยชน์จาก WiFi Module ที่มีในโทรศัพท์ และใช้เพียง Primary Node เชื่อมต่อกับ Secondary Node และ Subnode กระจายสัญญาณไปสู่ Web Application เพื่อแจ้งข้อความขอความช่วยเหลือจากภายนอก 

           แผ่นดินไหว เป็นภัยธรรมชาติที่มนุษย์ไม่สามารถรู้ล่วงหน้าหรือพยากรณ์ได้และไม่เลือกเวลาเกิด นำมาซึ่งความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินมหาศาล กลุ่มนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้คิดค้น “ระบบดิซาสเตอร์ลิ้งค์ (DisasterLink)” เพื่อใช้สื่อสารฉุกเฉินในพื้นที่หลังเกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหว (Emergency Infrastructure Communication that Restores Areas With No Signal After Life-Threatening Disasters) แม้การสื่อสารหลักจะถูกตัดขาด แต่ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิต ให้กับผู้ประสบภัยสามารถติดต่อไปยังทีมกู้ภัย หรือหน่วยงานเพื่อเข้าช่วยเหลือได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วผ่านระบบนี้

          ในเรื่องนี้รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ทีมนักศึกษาไทยจากวิศวะฯ มหิดลได้เป็นตัวแทนประเทศไทยแข่งขันบนเวทีนานาชาติ นำเสนอไอเดียสิ่งประดิษฐ์กู้โลก ในงาน Invent For The Planet 2023 ร่วมกับ 24 มหาวิทยาลัยชั้นนำ จาก 15 ประเทศ ณ เมืองเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความท้าทายคนรุ่นใหม่ในการคิดค้นนวัตกรรมที่ช่วยให้โลกปลอดภัย มุ่งฝึกให้รู้จัก Engineering Design มีขั้นตอน เสาะหาข้อมูล คิดวิเคราะห์ออกแบบ แก้ปัญหา 



          นายวิทวัส สุดทวี หัวหน้าทีมดิซาสเตอร์ริสค์ สปอต นักศึกษาชั้นปี 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่มาของแนวคิดนวัตกรรม “ระบบดิซาสเตอร์ลิ้งค์ สื่อสารฉุกเฉินระหว่างเกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหว (Disasterisk Spot Created an Emergency Infrastructure Communication that Restores Areas With No Signal After Life-Threatening Disasters) มาจากโศกนาฏกรรมแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบ่อยทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย 

          ล่าสุดเมื่อต้นปี 2566 ที่ตุรกี-ซีเรียมีผู้เสียชีวิตกว่า 46,000 คน และติดอยู่ในซากปรักหักพังจำนวนมาก ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลภัยพิบัติแผ่นดินไหว หลังจากเกิดแผ่นดินไหว 48 ชั่วโมงแรก หากช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทัน จะเป็นช่วงที่มีอัตราการรอดชีวิตของผู้ประสบภัยสูงสุด แต่เหตุแผ่นดินไหวในบางครั้งรุนแรง และสร้างความเสียหายอย่างกว้างขวางผู้คนบาดเจ็บ สิ่งปลูกสร้างพังทลาย กระทบถึงเสาสื่อสาร อาจเสียหายหรือชำรุด ส่งผลให้การสื่อสารถูกตัดขาดจากโลกภายนอก หรือหยุดชะงักและต้องใช้เวลานานในการซ่อมแซม ทำให้ผู้ประสบภัยไม่สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ รวมถึงการใช้โซเชียลมีเดียก็จะไม่สามารถใช้งานได้ด้วยเช่นกัน จึงต้องการคิดค้นระบบสื่อสารฉุกเฉินที่แก้ปัญหาให้การติดต่อไม่หยุดชะงัก เพื่อเพิ่มอัตราผู้รอดชีวิต  

          “ระบบดิซาสเตอร์ลิ้งค์ (DisasterLink)” เป็นระบบที่สามารถใช้ติดต่อสื่อสารในช่วงหลังเกิดภัยพิบัติ มีจุดเด่นและประโยชน์ คือ ต่อให้โครงสร้างสื่อสารถูกทำลาย ผู้ประสบภัยก็ยังสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างทันท่วงที ส่วนประกอบของ “ระบบดิซาสเตอร์ลิ้งค์ ประกอบด้วย 1. Primary Node หรือ คอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์หลักที่ใช้ในการรับข้อมูลต่างๆ โดยจะใช้เชื่อมต่อกับ Secondary Node 2. Subnode คือ ตัวขยายสัญญาณ WiFi ที่เซิร์ฟเวอร์หลักแชร์ให้สามารถกระจายการเชื่อมต่อสู่ Web Application 3. เว็บไซต์สำหรับใส่ข้อมูล โดยภายในเว็บไซต์ จะมี 2 ปุ่ม คือ ปุ่ม Emergency Button ใช้เพื่อจับสัญญาณ GPS ล่าสุด ก่อนเครือข่ายจะล่ม และ ปุ่ม Rescue Team Room สามารถใช้ติดต่อ พิมพ์ข้อความ รายละเอียดต่างๆ กับศูนย์ช่วยเหลือได้ 



          ด้านนายศิรประกฤษฎิ์ ลิ้มตระกูลธงชัย ตัวแทนจากทีมดิซาสเตอร์ริสค์ สปอต นักศึกษาชั้นปี 4 ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผู้ประสบภัยไม่จำเป็นต้องมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็สามารถใช้งานได้ เนื่องจากระบบดิซาสเตอร์ลิ้งค์ ที่สร้างขึ้นนี้ เป็นระบบการสื่อสารที่ไม่ได้พึ่งพาระบบโครงสร้างพื้นฐานของการสื่อสารแบบทั่วไป แม้จะไม่สามารถใช้งานการสื่อสารในส่วนของ Data เช่น 3G, 4G หรือ 5G ได้ แต่ได้นำประโยชน์จากความสามารถของโทรศัพท์ทุกเครื่องที่มี WiFi Module มาใช้งาน และนำมาพัฒนาต่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

          สำหรับวิธีการใช้งาน เพียงแค่ผู้ประสบภัยมีโทรศัพท์มือถือ ทำการเปิดหน้าเบราว์เซอร์ขึ้นมา จะพบกับเว็บไซต์ที่สร้างขึ้น แสดงขึ้นมายังหน้าจอทันที โดยผู้ประสบภัยสามารถใช้งานได้ง่าย สามารถกรอกข้อมูลที่สำคัญ พิมพ์รายละเอียดในลักษณะข้อความได้เลย ไม่ว่าจะเป็น ตำแหน่งปัจจุบัน พิกัด สถานที่ จำนวนผู้ประสบภัยในพื้นที่ หรือข้อมูลทางการแพทย์ อย่างโรคประจำตัว โดยระบุให้ครบถ้วนเพื่อรวดเร็วและแม่นยำต่อการช่วยเหลือ จากนั้นกดส่งข้อมูล เพียงเท่านี้ข้อมูลที่กรอกนั้นจะถูกส่งมายังเซิร์ฟเวอร์ของระบบในศูนย์การปฏิบัติการการช่วยเหลือ ทางทีมหน่วยกู้ภัยจะเตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ในการเข้าช่วยเหลือได้ถูกต้อง 

         ผลการทดสอบพบว่า ในปัจจุบัน สามารถพัฒนาต้นแบบ (Prototype) และสร้างเครือข่าย (Network) แบบ Mesh Topology ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อกันทุกอุปกรณ์เข้าด้วยกัน ใช้สำหรับให้ผู้ประสบภัยเชื่อมต่อและสื่อสารกันได้ เรียบร้อยแล้ว และทดลองใช้โทรศัพท์มือถือของผู้ประสบภัยเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่าย Hotspot ที่ตัวระบบดิซาสเตอร์ลิ้งค์ปล่อยออกมา จากการทดสอบสามารถใช้งานได้ สามารถส่งข้อความ ระบุพิกัดตำแหน่งปัจจุบันจากโมดูล GPS ไปยังเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้ 
 
  

        ทั้งนี้ ในการแข่งขันดังกล่าว มหาวิทยาลัยจากแต่ละประเทศ จะได้รับโจทย์ของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมุ่งฝึกคนรุ่นใหม่ให้รู้จัก Engineering Design อย่างมีขั้นตอน เสาะหาข้อมูล คิดวิเคราะห์ออกแบบ แก้ปัญหา โดยสมาชิกทีมไทย 6 คนรุ่นใหม่ เป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล จากภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ และภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ประกอบด้วย นายวิทวัส สุดทวี นายกรวิชญ์ สุวรรณ นายศิรประกฤษฎิ์ ลิ้มตระกูลธงชัย นายพินิจ ไมตรีสกุลคีรี นายภานุวัฒน์ เรืองเบญจสกุล นายวีรพันธุ์ วีรวัฒน์ไกวัล โดยมี รศ. ดร.อิทธิพงษ์ ลีวงศ์วัฒน์ และ อ. ดร.สมนิดา ภัทรนันท์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

 
เว็บสำเร็จรูป
×