กฟผ.ลุยโปรเจคพลังงานภาคใต้

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เดินหน้าโครงการวางเคเบิ้ลใต้ทะเล 230 กิโลโวลต์ จากขนอมไปเกาะสมุย คาดจะดำเนินการแล้วเสร็จปี 2569 เช่นเดียวกับแผนนำเข้าก๊าซ LNG ที่ร่วมลงนามความร่วมมือกับ ปตท.เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าในโซนภาคใต้  

กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นายภราดร ธรรมประพัทธ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคใต้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เข้าพบนายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อชี้แจงข้อมูลโครงการระบบเคเบิ้ลใต้ทะเล 230 กิโลโวลต์ “ขนอม-เกาะสมุย” ที่ดำเนินการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของการส่งกำลังไฟฟ้าไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าในอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และบริเวณใกล้เคียง ให้มีความมั่นคงเชื่อถือได้ในระยะยาว โดยมีการก่อสร้างจากสถานีไฟฟ้าแรงสูงขนอม ตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงเกาะสมุย (ก่อสร้างใหม่) ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระยะทางประมาณ 48 กิโลเมตร 



ปัจจุบันสายเคเบิ้ลใต้ทะเลของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ระดับแรงดัน 115 กิโลโวลต์ และ 33 กิโลโวลต์ ไม่เพียงพอสำหรับการจ่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าได้อย่างมั่นคง กฟผ. จึงได้ดำเนินโครงการระบบเคเบิ้ลใต้ทะเล 230 กิโลโวลต์ ซึ่งอยู่คนละแนวกับโครงการของ กฟภ. โดยจะมีการศึกษาและจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น หรือ IEE เพื่อเสนอความเห็นชอบการก่อสร้างและใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณต่างๆ ด้วย สำหรับการดำเนินโครงการได้เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) มีกำหนดแล้วเสร็จ ประมาณปี พ.ศ. 2569

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กฟผ. ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือศึกษาโอกาสการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) หรือ LNG Receiving Facilities สำหรับ รับ เก็บ และแปรสภาพก๊าซ LNG ในพื้นที่ภาคใต้ กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อสนับสนุนนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและกระทรวงพลังงาน

ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2018) ฉบับใหม่นั้น ได้มีการบรรจุโรงไฟฟ้าภาคใต้ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ปตท. และ กฟผ. จึงเริ่มการศึกษาร่วมกัน ถึงความเป็นไปได้ของโครงการ LNG Receiving Facilities เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับจัดส่งก๊าซธรรมชาติให้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ.

ในส่วนของโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยตามแผนดังกล่าว ประกอบด้วย โรงไฟฟ้า    ขนอม (จังหวัดนครศรีธรรมราช) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) กำลังผลิต 930 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1-2 กำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ (จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ในปี 2570 และ 2572) และ โรงไฟฟ้าใหม่ (COD ในปี 2578) กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ กฟผ. และ ปตท. จึงร่วมกันศึกษาโครงการ LNG Receiving Facilities เพื่อเป็นการรองรับการนำเข้า LNG และเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศในอนาคต

ล่าสุดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ผู้ว่าการคนใหม่คือ นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ซึ่งเดิมเป็นรองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เพื่อแทนนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. ที่จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในช่วงปลายปี 2563 



นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร จบการศึกษาระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ (วิศวกรรมเครื่องกล) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปริญญาโทบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปริญญาโทบริหารธุรกิจ (Energy Management) University of Montréal ประเทศแคนาดา อีกทั้งยังผ่านการอบรมในหลักสูตรสำคัญมากมาย อาทิ หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ หลักสูตรการกำกับดูแลกิจการสำหรับกรรมการและผู้บริหารระดับสูงขององค์กรกำกับดูแล (Regulator) รัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน จากสถาบันพระปกเกล้า หลักสูตรวิทยาการการจัดการ สำหรับนักบริหารระดับสูง จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หลักสูตร Advanced Management Program, Harvard Business School จากสหรัฐอเมริกา หลักสูตร Leadership Succession Program จากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐ หลักสูตรที่จัดโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และหลักสูตร Director Certification Program (DCP) เป็นต้น

ด้านประวัติการทำงานที่สำคัญ มีดังนี้ พ.ศ. 2556–2558 ดำรงตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ บริษัท อีแกท ไดมอนด์ เซอวิส จำกัด พ.ศ. 2558–2559 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารธุรกิจ พ.ศ. 2559–2560 ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการกิจการสังคม พ.ศ. 2560 – 2561 ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการพัฒนาธุรกิจ พ.ศ. 2561–ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง 


  ก.ค. 63






 
เว็บสำเร็จรูป
×